ขาดแคลนตู้สินค้า-ค่าระวางเรือสูง ลุ้นครึ่งปีหลัง “คลี่คลาย”

17 มี.ค. 2564 | 05:44 น.

นายโอภาส ใจเครือคำ งานวิจัยธุรกิจรายสาขาและฐานข้อมูลทางธุรกิจ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้เขียนบทความเรื่อง “ตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหน?” ความว่า

 โควิด-19 เป็นสาเหตุหลัก…จากข้อมูลสหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลกมีตู้คอนเทนเนอร์รวมกันประมาณ 180 ล้านตู้ โดยในปี 2019 ท่าเรือเอเชียมีส่วนในการบริหารจัดการถึง 60 % รองลงมาคือ ท่าเรือยุโรป 15 % อเมริกาเหนือ 7% ลาตินอเมริกา 6% และแอฟริกา 4% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าทั้งหมดจะอยู่ที่เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นหลัก 

 ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดรอบแรก หลายประเทศ Lockdown ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศลดลงมาก เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากระจ่ายไปตามท่าเรือ บริษัท โรงงาน หรือ Inland Container (ICD) ตามประเทศต่าง ๆ จึงทำให้สายเดินเรือ 3 กลุ่มใหญ่ อย่าง THE Alliance, Ocean Alliance และ 2M Alliance ต้องหยุดเดินเรือหรือจำกัดการเดินเรือมากขึ้น 

 เดือนกรกฎาคม 2020 หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนคลี่คลาย เป็นช่วงที่จีนเร่งส่งออกสินค้า ทำให้ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูง 

ส่วนประเทศปลายทางส่งออกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือสหรัฐฯและยุโรปจำนวนมาก ต้องใช้เวลานานในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับคืนประเทศต้นทาง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทิศทางดีขึ้น แต่สายเดินเรือยังใช้ปริมาณเรือขนส่งเท่าเดิม ส่งผลให้ไม่มีที่วางตู้คอนเทนเนอร์ จำนวนเรือไม่เพียงพอในการขนส่ง และค่าระวางปรับสูงขึ้น 

ขาดแคลนตู้สินค้า-ค่าระวางเรือสูง  ลุ้นครึ่งปีหลัง “คลี่คลาย”

ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบ

ย้อนไปปี 2562 ประเทศไทยใช้ตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 9.45 ล้านตู้ แบ่งเป็นขาเข้า 4.85 ล้านตู้ ขาออก 4.60 ล้านตู้ มาในปี 2563 การส่งออกและนำเข้าของไทย มีปริมาณลดลง 5.90% และ 11.75% ตามลำดับ  ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศเกิดความไม่สมดุล เพราะปริมาณการส่งออกมีมากกว่านำเข้า ประกอบกับทางจีนและเวียดนามนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือสูงขึ้น 

ค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรป  เดิมเก็บ 700 – 900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ แต่ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็น 1,000 ในเดือน พฤศจิกายน 2563 เพิ่มเป็น 2,200 เดือนธันวาคม 2563 และเพิ่มสูงถึง 3,650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ในเดือนมกราคม 2564 ส่วนค่าระวางเรือจากไทยไปสหรัฐฯ เดิมเก็บ 1,000-1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ปรับเพิ่มเป็น 3,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2563 – มกราคม 2564  

ผู้ส่งออกไทยเริ่มมีความหวังครึ่งหลังปี 2564 

ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยจะยังเผชิญปัญหาค่าระวางเรือที่สูง และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการบรรจุสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องนุ่งห่ม เพราะหลายประเทศเร่งการส่งออก ทำให้มีความต้องการตู้คอนเทนเนอร์สูงมากขึ้น

ในช่วงครึ่งปีหลัง ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกจะหมุนเวียนเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับความต้องการ หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สหรัฐฯและยุโรปจะส่งออกมากขึ้น ผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่อย่างจีนจะผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น โดยสมาคมอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์ของจีน ระบุว่า เพื่อแก้ปัญหาในเดือนกันยายน 2563 จีนผลิตตู้คอนเทนเนอร์ถึง 300,000 ตู้ สูงสุดในรอบ 5 ปี ประกอบกับค่าระวางเรือที่สูงขึ้น กระตุ้นให้สายเดินเรือต่าง ๆ เพิ่มจำนวนเรือบรรทุกสินค้ามากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"บิ๊กตู่" เร่งแก้  “ตู้คอนเทนเนอร์”ส่งออกขาดแคลน

จี้รัฐเร่งแก้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน แนะตั้งกองทุนลดภาระเอกชน

“จีน-เวียดนาม”เปิดศึกชิงตู้สินค้า “ไทยกระอัก”ดันค่าระวางเรือพุ่ง

เร่งแก้ปัญหาตู้สินค้าขาด-ขึ้นค่าระวาง หวั่นกระทบส่งออกไทย

JWD เปิดศูนย์รวมเก็บฯสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แห่งแรกในท่าเรือแหลมฉบัง