19 มีนาคม 2564- นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ซักซ้อมความเข้าใจ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรือสำราญและกีฬา ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 29/2564 โดยได้เชิญกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กรมสรรพากร กรมเจ้าท่า กองบังคับการตำรวจน้ำ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจเรือยอร์ชไทย ผู้ประกอบการมารีน่า และตัวแทนเรือ หารือร่วมกัน ณ ห้องภาสกรวงศ์
โดย กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญในภูมิภาคเอเซีย (Marina Hub of Asia) และเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 29/2564 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564
ในเรื่องของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรือสำราญและกีฬา ตามประเภท 3 (ค) ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เพื่อขยายระยะเวลาเรือยอร์ชให้อยู่ในไทยได้ 2 ปี 6 เดือน และให้เรือซุปเปอร์ยอร์ชที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป บรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คน ตามประกาศกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เข้ามาชั่วคราวได้
กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติโดยเรือยอร์ช ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยการแวะท่องเที่ยว เช่าท่าที่จอดเรือ (Marina) จ้างซ่อมบำรุงรักษาเรือ ใช้บริการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายเสบียงอาหาร ฯลฯ รวมถึงการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ได้แก่ การจ้างกัปตันและลูกเรือเพื่อดูแลเรือ การจ้างช่างซ่อมเรือ
คาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศถึง 155 ล้านบาทต่อลำต่อปี และอาจมีการใช้จ่ายในประเทศสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องและยังสอดรับกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ โดยมีกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) อีกด้วย
อีกทั้งเป็นการพัฒนาความรู้ด้านวิชาชีพเกี่ยวกับการซ่อมเรือและการเป็นกัปตันเรือ ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการใช้จ่ายในประเทศด้วย ส่วนการให้เรือซุปเปอร์ยอร์ชตามประกาศกระทรวงคมนาคมเข้ามาชั่วคราวได้นั้น จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเศรษฐีต่างชาติโดยเรือซุปเปอร์ยอร์ช ที่ต้องการมาท่องเที่ยวในเขตภูมิภาคเอเชีย และก่อให้เกิดเม็ดเงินจากการใช้จ่ายที่สูงมากของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้