นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ผู้บริหาร “บิ๊กซี” เปิดเผยว่า บิ๊กซีจะใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท ในการลงทุนขยายและปรับปรุงสาขาในทุกๆ รูปแบบ รวมทั้งการทำกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
โดยมุ่งเน้นการนำข้อมูลจากฐานสมาชิกบิ๊กการ์ด ซึ่งมีอยู่ราว 14.7 ล้านคน มาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อนำมาใช้ในการนำเสนอสินค้า การจัดโปรโมชั่น รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลให้กับคู่ค้า เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการด้วย
โดยยุทธศาสตร์สำคัญ คือการมีช่องทางการซื้อสินค้าที่หลากหลายใน 6 รูปแบบ ได้แก่
1. Hypermarket/Supermarket ซึ่งเป็นรูปแบบ B2C ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า 152 สาขา ซึ่งปีนี้จะมีการขยายสาขาใหม่ 2 สาขา พร้อมกับการรีโนเวท 6 สาขา อาทิ บิ๊กซี สำโรง เป็นต้น , บิ๊กซี มาร์เก็ต 48 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 6 สาขา และมีแผนจะอัพเกรดสโตร์บิ๊กซี มาร์เก็ตเป็นบิ๊กซี ฟู้ดเพลสอีก 10 สาขา
2. Cash & Carry ซึ่งเป็นรูปแบบ B2B ได้แก่ บิ๊กซี ดีโป้ 7 สาขา
3. Small Formats ในรูปแบบ Convenience ได้แก่ มินิบิ๊กซี 1,231 สาขา ซึ่งปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่ม 100-200 สาขา, ร้านขายยา Pure 144 สาขา และร้านกาแฟวาวี 39 สาขา
4. Online ในรูปแบบ Omni-Channel ได้แก่ บิ๊กซี ช้อปปิ้งออนไลน์ , บิ๊กซี ไลน์&โทรมาช้อป และบิ๊กซี TMALL GLOBAL ที่เปิดให้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติสั่งซื้อสินค้าของบิ๊กซีได้อีกด้วย
5. New Channels การเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า เช่น บิ๊กซี เวนดิ้ง แมชชีน ซึ่งบริษัทจับมือเป็นพันธมิตรกับเครือสหพัฒน์ เริ่มทดลองให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะตั้งให้บริการในโรงพยาบาล โรงงาน อาคารสำนักงาน รวมถึงคอนโดมิเนียม ฯลฯ
6. International การขยายสาขาในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีร้านมินิบิ๊กซี ในรูปแบบแฟรนไชส์ในสปป.ลาว จำนวน 51 สาขาซึ่งมีแผนขยายสาขามินิบิ๊กซีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ด้วย นอกจากนี้ยังมีบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ในกัมพูชาอีก 1 สาขา และมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 2 สาขาที่เสียมเรียบและพนมเปญ
“เป้าหมายของบิ๊กซีในวันนี้ คือการสร้าง BigC System เชื่อมโยงกันในทุกฟอร์แมท รวมทั้งแนวคิดในการดึงให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในสาขาให้นานขึ้น การเพิ่มความถี่ในการมาใช้บริการ ดังนั้นจึงมีแผนเพิ่มศักยภาพและพัฒนาพื้นที่เช่าให้มีความหลากหลาย ตอบรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว ให้มาช็อปปิ้ง กินข้าว และเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายได้”
การเดินหน้ายุทธศาสตร์ต่างๆ ล้วนมาจากฐานข้อมูลของลูกค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% โดยมีจำนวน 14.7 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่ช่องทางออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะสร้างรายได้หลังจากพบว่า มียอดขายเพิ่มขึ้นราว 200% ทั้งในช่องทางออนไลน์ของบิ๊กซีเอง และมาร์เก็ตเพลสอื่น ซึ่งมีสัดส่วนราว 30-40%
นายอัศวิน กล่าวอีกว่า เมื่อ 20 ปีก่อนในชานเมืองมีไฮเปอร์มาร์เก็ตเปิดให้บริการสาขาเดียว แต่วันนี้มี 7-8 สาขา และยังมีช่องทางออนไลน์อีก เมื่อรูปแบบ การแข่งขันเปลี่ยนไป แบรนด์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับด้วย ซึ่งนอกจากการปรับเพิ่มพื้นที่เช่าแล้ว การคัดเลือกสินค้าให้ตรงกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่นก็มีความสำคัญ การเชื่อมโยงร้านค้าและออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องมีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
“ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายภาคส่วน ทั้งการนำเข้า ส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง เมื่อโควิดทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป การตัดสินใจเปลี่ยนไป เวลาอาจน้อยลง เงินในกระเป๋าอาจน้อยลง เราจะทำอย่างไรที่จะดึงลูกค้ามาที่เรา วันนี้จึงเป็นการแข่งขันเพื่อแย่งเงินจากลูกค้าและแย่งเวลาจากลูกค้า”
ทั้งนี้โดยภาพรวมของธุรกิจแม้ในปี 2563 จะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่บริษัทยังมีผลกำไร ขณะที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก แต่เชื่อว่าไตรมาส 2 จนถึงสิ้นปีจะมีการเติบโตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหลังการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี วันนี้หลังการเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาห กรรมค้าปลีก (เครือซีพีเข้าซื้อกิจการโลตัส) มองว่าเป็นเรื่องของการแข่งขันตามปกติในธุรกิจ ถือเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ค้าปลีกในการนำสินค้ามาขาย ขณะที่เป้าหมายของบิ๊กซี คือ การเป็นเบอร์ 2 ที่อยู่ได้และแข็งแรง พร้อมเดินหน้าพัมนาและช่วยทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทยเติบโตได้ดี
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,666 วันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :