การค้าชายแดนไทย-เมียนมาด้านจังหวัดระนอง ที่ขนส่งกันทางเรือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซบเซาลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ต่อด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายหลังคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้การค้าชายแดนด้านจังหวัดระนองเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2563 กระทั่งเกิดเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลายเป็นวิกฤติรุนแรงยืดเยื้อ ที่หลายฝ่ายวิตกว่าจะกระทบถึงการค้าชายแดนไทย-เมียนมา
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิกฤติการเมืองในประเทศเมียนมา และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ไม่กระทบต่อบรรยากาศการค้าชายแดนด้านระนอง แต่กลับส่งผลให้มีความคึกคักมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ในเมียนมามีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ประท้วงมีการยกระดับการชุมนุม โดยเฉพาะการนัดหยุดงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น สินค้าในเมียนมาเกือบทุกรายการมีการปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันพืชและข้าวสาร ที่ปรับขึ้นถึง 20-30%
“พ่อค้าชายแดนทั้งฝ่ายไทย-เมียนมา ต่างเร่งออร์เดอร์สินค้าที่จำเป็นเพิ่มเป็นจำนวนมาก เนื่องจากช่องทางการส่งออกยังเปิดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จึงทำให้ตอนนี้เส้นทางด้านจังหวัดระนอง กลายเป็นช่องทางหลักและช่องทางสำรองในการขนส่งสินค้าไปยังตอนกลางของเมียนมา เนื่องจากทางน้ำจะปลอดภัย และขนได้คราวละจำนวนมาก”
รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า โดยในขณะนี้จะเห็นว่ามีรถบรรทุกสินค้าวิ่งเข้า-ออกผ่านมายังจังหวัดระนอง นำสินค้ามายังท่าเรือเพื่อรอส่งต่อไปยังประเทศเมียนมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บริเวณหน้าท่าเรือเพื่อการขนส่ง หรือตลอดเส้นทางเข้ามายังท่าเรือเพื่อการส่งออก จะมีรถขนส่งสินค้า รถบรรทุกพ่วงจอดเรียงแถวยาว เพื่อรอเข้าไปส่งของยังท่าเรือขนส่งสินค้า โดยเฉพาะปูนซิเมนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีขบวนรถขนเข้ามาจำนวนหลายสิบเที่ยวในแต่ละวัน
ประจวบกับตั้งแต่เดือน ธ.ค.- เม.ย. ที่เป็นช่วงหน้าแล้ง ทางฝั่งเมียนมาจะมีคำสั่งซื้อสินค้าประเภทปูนซีเมนต์ และน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติ เนื่องจากเป็นช่วงที่การคมนาคมขนส่งทำได้สะดวก จึงเร่งสั่งสินค้าตุนไว้เผื่อใช้ช่วงหน้าฝน ดังนั้น แม้ว่าจะเกิดวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ แต่สถานการณ์การค้าชายแดนด้านระนอง โดยทั่วไปยังอยู่ในระดับที่ดีมาก เพียงแต่ต้องมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ทางฝ่ายเมียนมาต้องการมากที่สุดคือปูนซิเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง เพื่อใช้ในโครงสร้างก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ทางการเมียนมากำลังเร่งดำเนินการ เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น ก็มีตัวเลขการสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อาจเป็นเพราะความวิตกหวั่นผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศเมียนมา รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ทางเมียนมามีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องเร่งจัดส่งสินค้ามายังท่าเรือระนอง เพื่อรอส่งข้ามฟากไปยังฝั่ง จ.เกาะสอง โดยบางช่วงรถบรรทุกสินค้าต้องจอดรอจำนวนมากนับ 50-70 คัน
สินค้าส่งออกสำคัญผ่านด่านจังหวัดระนอง ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ท่อเหล็กใช้ในการขุดเจาะปิโตรเลียม ปูนซีเมนต์ ของทำด้วยเหล็ก, ตาข่ายจับปลา ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เครื่องดื่มให้พลังงาน เป็นต้น
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564