นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้ขณะนี้จะเกิดโควิดระลอก 3 แต่การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเตรียมแผนไว้ โดยยอมรับว่าระยะสั้นในช่วง 1-2 เดือนนี้การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบบ้าง
“ส่วนในระยะกลางผมไม่กังวล เพราะเชื่อว่ากว่าจะถึงวันที่ 1 ก.ค.ที่จะเริ่มโมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว สถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงแล้ว วันนี้แผนการฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตได้ไม่ต่ำกว่า 70% ก่อนเริ่มภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เร่งฉีดต่อเนื่องแล้ว และถ้าเราเริ่มทำที่ภูเก็ตสำเร็จ พื้นที่นำร่องที่เหลือ คือ กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา เชียงใหม่ ก็จะทยอยเริ่มใช้โมเดลนี้ได้ในเดือนต.ค.นี้”
ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าช่วงไตรมาส 2 นี้ (เม.ย.-มิ.ย.นี้)ที่ลดวันกักตัวลงจาก 14 วันเหลือ 7 วันสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเหลือ 10 วัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกาที่ยังคงต้องกักตัว14 วัน ในช่วง 3 เดือนนี้ก็คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100,000 คน เนื่องจากก็มีนักท่องเที่ยวเริ่มจองเข้ามาแล้ว
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ แน่นอนว่าการเดินทางเที่ยวในประเทศจะชลอตัวลงไปอีกรอบ แต่รัฐบาลก็เตรียมมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์โลน วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลนก้อนดังกล่าวในวันที่ 9 เม.ย.นี้
รวมถึงโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวที่จะตามมาในเดือนพ.ค.นี้ หรือหลังสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส” 3 จะเปิดให้จองในราวกลางเดือนพ.ค. โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่รัฐบาลจะสนับสนุน 40% หรือไม่เกิน 5 พันบาทต่อคน ให้คนไทยเดินทางเที่ยวผ่านบริษัททัวร์
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีอีอาร์ไอ) กล่าวถึงความสมดุลระหว่างการเปิดรับนักท่องเที่ยวกับการควบคุมการระบาด ว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลน่าจะเริ่มทบทวนแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยว และต่อให้ไม่ปรับแผนนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็อาจลังเลมากขึ้นที่จะมาเที่ยวประเทศไทย
ในระยะหลังที่เริ่มพบการติดในหมู่คนไทยมากขึ้น และล่าสุดเริ่มเห็นการเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ ที่เป็นการติดเชื้อในคนไทย ก็เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ความน่าเป็นห่วงยังถูกซ้ำเติมด้วยอีกสองปัจจัย ประการแรกคือ การกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนา ไวรัส ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วตามระดับการระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก เชื้อกลายพันธุ์บางชนิดมีอัตราการระบาดสูงมาก เช่น สายพันธุ์อังกฤษ ส่วนบางสายพันธุ์เช่นสายพันธุ์อัฟริกาใต้ก็ “ดื้อวัคซีน” เช่น ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีน Astrazeneca ลดลงอย่างมาก และอาจรวมถึงวัคซีนชนิดอื่นด้วย
เรื่องการกลายพันธุ์ประกอบกับการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในกลุ่มคนไทย ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงอีกประการคือ แนวนโยบายการเปิดประเทศ ที่ระยะหลังมีการพูดมากขึ้นถึงกำหนดการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยลดจำนวนการกักตัวลง หรืออาจไม่กักตัวเลยในบางพื้นที่ (เช่น ภูเก็ต สมุย) ซี่งแม้จะมีเงื่อนไขเรื่องการฉีดวัคซีน และจำกัดประเทศต้นทางที่อาจเป็นแหล่งกลายพันธุ์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ว่าผลต่อการระบาดในประเทศไทยหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไรแน่
ที่กล่าวมาทั้งหมดมิได้หมายความว่าเราควรปิดประเทศต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในไทยและ/หรือในประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว เพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง และรัฐบาลไทยก็คงรับภาระการเยียวยาไปเรื่อยๆ ไม่ไหว แต่คิดว่าต้องมีการปรับแนวนโยบาย และมีมาตรการเสริมเพิ่มขึ้น โดยจะขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้
ประการแรก ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยช่วยกันป้องกันการระบาดมากกว่าที่เคยทำมา เรื่องเดิม ๆ ที่เคยทำมา เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างถูกวิธี เว้นระยะห่างอย่างแท้จริง ใช้ช้อนกลาง ไม่ไปในสถานที่ปิดที่มีความเสี่ยงสูง โดยอาจใช้การระบาดในช่วงระหว่างและหลังสงกรานต์เป็นตัวตัดสิน ว่าคนไทยระวังตัวเพียงพอหรือยัง ซึ่งการระวังตัวเพิ่มขึ้นเช่นนี้ต้องเคร่งครัดมากเป็นพิเศษในพื้นที่ที่จะรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวเลย เรื่องนี้อาจดูเป็นข้อเสนอที่น่าเบื่อ แต่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากในการควบคุมการระบาด
ประการที่สอง รัฐบาลควรยกระดับศักยภาพและวางแผนเรื่องการตรวจเชื้อ การติดตามเคส และการกักตัวผู้ป่วย (testing, tracing and isolation) โดยควรมีการวางแผนระดับพื้นที่เสี่ยง และมีการประสานงานเพื่อเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างรวดเร็วต่อการตอบสนองต่อการระบาด มาตรการนี้ก็ดูน่าเบื่อแต่มีประสิทธิภาพมากเช่นกัน
ประการที่สาม รัฐบาลต้องแน่ใจว่าระบบสาธารณสุขมีการขยายศักยภาพ ในการรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้
ประการที่สี่ ควรเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนในประเทศ ที่สามารถใช้กับเชื้อโคโรน่าไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ ไม่ควรเดินตามแนวทางเดิมที่พัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อรุ่นแรก ซึ่งแม้จะทำสำเร็จก็มีประโยชน์ต่อประเทศน้อยมาก
ประการที่ห้า รัฐบาลต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วกว่าในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับวัคซีนจำนวนมากจากแหล่งต่าง ๆ แล้ว
ประการที่หก ควรมีแนวทางชัดเจนในการประเมินผลของการผ่อนคลายจำนวนวันกักตัว และการตรวจหาเชื้อในระหว่างการกักตัว ว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดใหญ่อย่างไร โดยอาจใช้เว้นวรรคการผ่อนคลายการกักตัวเป็นระยะ เพื่อให้สามารถใช้ช่วงเวลาที่เว้นวรรคนั้นทำการประเมินผลได้ ก่อนที่การระบาดจะขยายวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ และทำให้ต้องปิดประเทศขนานใหญ่อย่างที่หลายประเทศในยุโรปทำอยู่ในช่วงนี้ (รวมถึงประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้วด้วย) โดยหวังว่าเราจะสามารถหาสมดุลระหว่างการเปิดรับนักท่องเที่ยว และการควบคุมการระบาดอย่างเหมาะสม ในอนาคต 3-6 เดือนข้างหน้าได้
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จังหวัดภูเก็ตนำร่องสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ฟื้นฟูท่องเที่ยว-ปลุกเศรษฐกิจ
ถก3จังหวัดใต้ นำร่อง"Sandbox"เปิดประเทศรับต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว
Villa Quarantine ศรีพันวา ฉลุยไร้ผู้ติดเชื้อโควิด ขยายผล7จังหวัดรับต่างชาติ
ปรับเป้าท่องเที่ยวใหม่"ททท."ดันต่างชาติ6.5ล้านคน-อัพไทยเที่ยวไทย
คลังคาดท่องเที่ยวฟื้นปี 65 พร้อมลดกักตัวต่างชาติที่ฉีดวัคซีน