กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดว่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงประมาณกลางสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2564 สำหรับปี 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดว่าจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับ ปี 2551 ซึ่งปริมาณฝน ปี 2551 มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,543 มิลลิเมตร (มม.) ซึ่งมากกว่า ปี 2563 จำนวน 16 มม. (ปี 2563 ปริมาณฝน 1,527 มม.) ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ทาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ปี 2564 และพื้นที่คาดการณ์ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม
“ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) และในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ออกมาเตือนภัยเพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดภัยพิบัติจริงจะช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ปริมาณน้ำต้นทุนเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง (1 พ.ค.2564) ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำใช้การได้เป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากมีฝนตกเป็นระยะ ประกอบกับมีการะบายน้ำเพื่อประหยัดการใช้น้ำควบคู่กัน รวมถึงการขึ้น-ลงของน้ำทะเล ส่วนภาคตะวันออก หรือในพื้นที่อีอีซี สิ้นสุดฤดูแล้งในปีนี้ ปริมาณต้นทุนน้ำจะมีมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 40% อ่างเก็บน้ำสามารถที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนได้ มองข้ามไปถึงฤดูแล้งในปีหน้าคาดว่าน้ำไม่น่ามีปัญหาการขาดแคลน
“ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน จุดชี้วัดคือ “เขื่อนอุบลรัตน์” มีปริมาณน้ำต้นทุนที่มากกว่า 2 ปีที่แล้วเป็นแง่บวก ประกอบกับฝนในขณะนี้ในช่วงเดือนเมษายนเพียงครึ่งเดือน มีปริมาณน้ำที่เก็บกักได้เพิ่มกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตรถือเป็นสัญญาณบวก โดยภาพรวมปริมาณน้ำตั้งต้นอยู่ในเกณฑ์สูง โอกาสท่วมมีน้อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ทาง สทนช. ได้รับคำสั่งจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานเก็บสำรองน้ำเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อใช้ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า เดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน แต่พอถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ฝนก็จะน้อยกว่าปกติ ซึ่งไม่ได้หมายถึง "ฝนทิ้งช่วง" คำว่า น้อยกว่าปกติ เทียบเคียงจากค่าเฉลี่ย เช่นจากเคยตกปกติ 100-200 มิลลิเมตร ก็อาจจะน้อยลงมา 5% แต่อาจจะไม่ส่งผลดีหากฝนกระจายไม่ทั่วถึง จะมีผลในบางพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ฝนเริ่มเข้ามาเกษตรกรจะมีการเตรียมแปลงและเริ่มการเพาะปลูก อาจจะส่งผลกระทบต่อข้าวที่กำลังออกรวง หรือช่วงที่มีฝนน้อยกว่าปกติก็จะกระทบในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็พยายามที่จะแจ้งให้ทุกภาคส่วน เพราะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เร่งกักเก็บน้ำช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ให้มากที่สุด ส่วนกันยายน ก็คาดว่าฝนจะเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง
ขณะที่คาดการณ์บนพื้นฐานยังไม่มีพายุเข้า สภาพฝนปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะคล้ายปี 2539 หรือปี 2551 หรือปี 2553 แต่ในแต่ละปีที่อ้างถึงมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น ปี 2539 มีพายุเข้ามา 4 ลูก ต่อเนื่องจากปี 2538 จึงทำให้ปี 2539 เกิดน้ำท่วม ส่วนปี 2551 กับปี 2553 มีพายุเข้ามาลูกเดียว ซึ่งเป็นปีที่แล้งต่อเนื่องมา ก็คาดว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมมาก เพราะฉะนั้นฝนที่ตกมาในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายนและตุลาคม น่าที่จะรับได้ หากมีพายุเข้ามาเกินกว่า 3 ลูก
“ทาง กอนช. มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย (ช่วงเดือนพ.ค.-ก.ย. 2564) ซึ่งจะทำให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จำนวน 61 จังหวัด ส่วนพื้นที่คาดการณ์ฝนน้อยกว่าค่าปกติมี 29 จังหวัด (ช่วงพ.ค.-ก.ค. 2564) แยก เป็นรายเดือน รายจังหวัด (กราฟิกประกอบ) ซึ่งได้ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมในพื้นที่เพื่อรับมือในรูปต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้พัฒนาไปค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะ กรมอุตุนิยมวิทยา สามารถคาดการณ์ฝนตกได้ค่อนข้างแม่นยำในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วน 3 เดือนข้างหน้า คาดการณ์ความถูกต้องประมาณ 60-70% มีความเชื่อมโยงกับระบบการคาดการณ์กับภูมิอากาศร่วมด้วย แต่ความแปรปรวนอากาศเป็นปัญหาหลักที่ทำให้พฤติกรรมรูปแบบการตกของฝนยังแปรเปลี่ยนไปมาก มาจาก "ภาวะโลกร้อน" หรือ Climate Change
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง