คลังอัด 2.5หมื่นล้าน ฟื้น"การบินไทย" ชงครม.ดึงกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

05 พ.ค. 2564 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2564 | 11:29 น.

สหกรณ์เจ้าหนี้ ลุ้นครม. 5 พ.ค. ไฟเขียวดึง “การบินไทย”กลับเป็น รัฐวิสาหกิจประเภท3 แถมใส่เงินเพิ่ม 2.5 หมื่นล้านบาทให้เดินหน้าต่อไป ยันหนุนแผนฟื้นฟู 12 พ.ค.นี้ พร้อมเสนอตั้งกรรมการเจ้าหนี้ 4 คนร่วมบริหารแผน

การประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ท่ามกลางความเห็นต่างของเจ้าหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการลงมติในแผนฟื้นฟูกิจการ ยังมีความไม่มั่นใจใน สถานะของการบินไทย

หลังจากกระทรวงการคลังลดการถือหุ้นลง ด้วยการให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นแทน รวมถึงการต้องใส่เงินก้อนใหม่ ที่การบินไทยต้องการถึง 50,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังจะนำเรื่องการบินไทยเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ 

มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการติดตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ซึ่งเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ 5-6 แห่งที่รับมอบจากสหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิก 89 แห่ง ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้หลักของการบินไทย จะประชุมร่วมกันเวลา 13.00 น.ของวันที่ 6 พฤษภาคม หลังจากทราบมติครม. จากนั้นจะประชุมออนไลน์กับสมาชิกในเวลา 15.00 น. เพื่อให้ทราบแนวทางเดียวกัน

โหวตแผนออนไลน์

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรมบังคับคดี จะจัดประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยผ่านอีเล็กทรอนิกส์ (อี-มิตติ้ง) มูลค่าหนี้ที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิ์โหวตแผนฟื้นฟู คาดว่าจะอยู่ที่  1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อยู่ในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม-14 กันยายน 63 ที่การบินไทยยื่นฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่หนี้รวม 4 แสนล้านบาทที่เจ้าหนี้เอาหนี้ในอนาคต 10 ปีมารวมเป็นหนี้ด้วย 

เจ้าหนี้หลักที่จะโหวต จะเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 40% เจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชน 3.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 17% เจ้าหนี้การค้าราว 10% เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง 13,000 ล้านบาท คิดเป็น 7-8% นอกนั้นอีก 4-5% เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินจากต่างประเทศ

โดยขั้นตอนการโหวตในวันดังกล่าวเจ้าหนี้ก็จะโหวตว่าจะรับแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอหรือไม่ การตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู การตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้

นายชาญศิลป์กล่าวต่อว่า ในแผนฟื้นฟูต้องมีเงินใหม่เข้ามา มี 2 วิธี คือ 1. เงินกู้ และ 2. เพิ่มทุน หรือลดทุนแล้วเพิ่มทุน ซึ่งการจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นกับกระทรวงการคลัง แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะคิดประเด็นนี้อย่างไร

การเข้ามาของเจ้าของก็ทำได้หลายวิธี บางกองทุนก็อาจจะเข้ามาได้ ธนาคารของรัฐ หรือรัฐบาล ก็เข้ามาได้มีหลายวิธี ที่ผ่านมาคนไปกังวลว่า รัฐวิสาหกิจไม่ดี แต่รัฐวิสาหกิจดีๆ ก็มี

“รัฐวิสาหกิจที่มีการแข่งขันมัน ก็มีกระบวนการ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ การเลือกคนมาเป็นผู้นำ ระบบงานต่างๆให้แข่งขันระดับโลก เราต้องแข่งขันกับสายการบิน 50 สายทั่วโลก ถ้าการบินไทยมีเงินมันก็เดินได้

ที่ผ่านมาการบินไทยก็มีการลดต้นทุนเรื่องเครื่องบินลงไปได้มาก การลดจำนวนพนักงานลงตามโครงสร้างองค์กรใหม่ที่เพิ่งเริ่มไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยในเดือนหน้าพนักงานก็จะเหลือไม่เกิน 1.6 หมื่นคน จาก2.9 หมื่นคนในปี 2562”นายชาญศิลป์กล่าว

โหวตแผนฟื้นฟูการบินไทย

สหกรณ์หนุนแผน

นายไพบูลย์ แก้วเพทาย หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ บริษัทการบินไทยฯ ของสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ 89 แห่ง มูลหนี้รวม 4.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยอีก 3 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดล้วนเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ของการบินไทย รวมมูลหนี้กว่า 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นกว่า 40% ของจำนวนหนี้ 1.8 แสนล้านบาท ได้หารือกันแล้วว่า เกือบทั้งหมดจะโหวตสนับสนุนแผนฟื้นฟูการบินไทยในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้

รวมถึงจะเสนอขอตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ 4 คน โดยเป็นตัวแทนของสหกรณ์ออมทรัพย์ เจ้าหนี้หุ้นกู้ 3 คน และบริษัทประกันชีวิต 1 คนจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ที่จะต้องจัดตั้งขึ้นมา 7 คน

รวมถึงแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูร่วมไปด้วย โดยตอนแรกได้ทาบทาม บริษัท บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด แต่อีวาย ปฏิเสธ ซึ่งเรากำลังดูอยู่  แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ สหกรณ์ฯจะใช้กลไกของคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการติดตามการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ

“เรามองว่า หากปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย หนี้ที่จะได้คืนจะไม่เกิน 13% ของหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด ซึ่งไม่คุ้มกันเลย เราจึงยอมรับข้อเสนอของการบินไทย ที่การประชุมครั้งล่าสุด ได้ขอยืดการชำระหนี้หุ้นกู้เดิมจากบวกไป 6 หรือไม่เกิน 14 ปี ขอบวกเพิ่มไปอีก 8 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 16 ปี โดยไม่มีการแฮร์คัทหนี้ ไม่มีเงื่อนไขการแปลงหนี้เป็นทุน เนื่องจากสหกรณ์ไม่สามารถใส่เงินใหม่ให้การบินไทย เนื่องจากติดเงื่อนไขของกฎหมายสหกรณ์ ที่มีเกณฑ์การลทุนในหุ้นกู้ใหม่ที่ต้องลงได้เฉพาะในบริษัท A ลบขึ้นไป”

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ต้องการรอดูความชัดเจนของแผนการใส่เงินใหม่เข้าไปในการบินไทยอีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า ทางเจ้าหนี้สถาบันการเงินจะลง 2.5 หมื่นล้านบาท และจะได้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุน แต่รัฐต้องใส่เงินเข้ามาด้วย 2.5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะใส่ในรูปของเงินกู้ แต่ไม่เพิ่มทุน ซึ่งอาจจะให้ธนาคารของรัฐเข้ามา โดยจะทำให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท3 คือ ให้รัฐวิสาหกิจอื่นเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม 2-3% เมื่อรวมกับหุ้นของกระทรวงการคลัง 47.86% รวมแล้วรัฐถือเกิน 50% ซึ่งสหกรณ์จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ 

แบงก์เจ้าหนี้หนักใจ

แหล่งข่าวสถาบันการเงินเจ้าหนี้กล่าวว่า สถาบันการเงินเอกชนคิดหนักที่จะใส่เม็ดเงิน เพราะในแผนฟื้นฟูการบินไทย กำหนดที่จะชำระหนี้เร็วกว่าปกติให้กับองค์กรที่ใส่เงินให้ตามแผนฯคือ ถ้าหากไม่ใส่เงินเข้ามากว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ต้องใช้เวลานานกว่า 10ปี ซึ่งประเด็นปัญหาตอนนี้อยู่ที่กระทรวงการคลังจะใส่เงินได้หรือไม่ เพราะการบินไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ

ดังนั้นขั้นตอนจึงอยู่ที่มติครม. วันที่ 5 พฤษภาคมนี้ หากหน่วยงานของรัฐถือหุ้นเกิน 50% การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ทางกระทรวงการคลังจึงจะสามารถใส่เงินเข้ามาได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564