จีนครองแชมป์โลกนำเข้าทุเรียน 1.38 ล้านตัน แนะเอกชนไทยคุมคุณภาพ-รักษาตลาด

25 พ.ย. 2567 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2567 | 07:36 น.

สนง. ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองกวางโจว เผยรายงานการนำเข้าทุเรียนสดของจีน พบเป็นรายใหญ่ที่สุดในโลก การนำเข้า 9 เดือนปี 67 ปริมาณพุ่ง 1.38 ล้านตัน มูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ แนะผู้ประกอบการไทย ควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน ได้เปิดเผยภาพรวมของการนำเข้าทุเรียนสดของจีนโดยระบุว่า ปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก การบริโภคทุเรียนของจีนในปี 2566 คิดเป็น 91% ของการบริโภคทุเรียนทั้งหมดของโลก 

ทั้งนี้ โดยจากสถิติของกรมศุลกากรจีนแสดงให้เห็นว่าปริมาณและมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนในปี 2566 มีปริมาณ 1.42 ล้านตัน มีมูลค่า 6.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน ปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนสด 1.38 ล้านตัน มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 6.2 พันล้านดอลลาร์ และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เดือนกันยายน ปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากทั่วโลกจำนวน 228,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้ากว่า 894 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 58.4% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 39% โดยมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามจำนวน 167,000 ตัน มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 640.7 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้น 90% และในด้านมูลค่าเพิ่มขึ้น 71.5% 

ขณะที่ จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนจากไทยจำนวน 58,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 243.2 ล้านดอลลาร์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าลดลง 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนปี 2567 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเกือบ 618,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2.45 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 72.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นอัตราส่วนกว่า 44% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงเป็นซัพพลายเออร์ทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยจีนมีปริมาณการนำเข้าจากไทยเกือบ 755,000 ตัน มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3.73 พันล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้ ในด้านของราคาทุเรียน เดือนกันยายน 2567 ราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนอยู่ที่ 3,926 เหรียญดอลลาร์/ตัน ลดลง 12.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนอยู่ที่ 4,497 เหรียญดอลลาร์/ตัน ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่จีนนำเข้าจากไทยอยู่ที่ 4,947 เหรียญดอลลาร์/ตัน เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี 

ขณะเดียวกัน หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย ตั้งแต่ต้นปี 2567 มีการแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของจีนในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกทุเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยเห็นได้จากการที่ทุเรียนแช่แข็งของเวียดนามมีการนำเข้ามายังจีนเพิ่มขึ้น และทุเรียนสดของมาเลเซียเริ่มเข้าสู่ตลาดจีนในปี 2567 ตลอดจนผู้ส่งออกทุเรียนของลาวให้ความสนใจและเตรียมสำรวจโอกาสการปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของโอกาสทุเรียนไทย การจัดส่งทุเรียนต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้สด เน่าเสียเร็ว ซึ่งการขนส่งทางบก ต้องประสบกับการจราจรที่ติดขัดในช่วงฤดูการขายทุเรียน อาจทำให้เวลาในการจัดส่งยาวนานขึ้น นับตั้งแต่เปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังจีน ก็ได้มีทางเลือกใหม่ ทำให้การขนส่งทุเรียนไปยังจีนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นผ่านทางรถไฟจีน-ลาว 

 นอกจากนี้ ทั้ง 25 มณฑลในประเทศจีนก็ได้เปิดตัวรถไฟบรรทุกสินค้าข้ามพรมแดนจีน-ลาว อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางการค้า สำหรับประเทศและภูมิภาคตลอดเส้นทาง นับเป็นการเปิดช่องทางใหม่ในการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีน ซึ่งเดิมจากไทยไปคุนหมิงเคยใช้เวลาทางทะเล 7 วัน และทางรถยนต์ 5 วัน ปัจจุบัน ใช้เวลาเพียง 2 วันโดยรถไฟ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดที่สำคัญของโลก และจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ก่อนหน้านี้ ต้นทุนการขนส่งทุเรียน1 ตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 70,000-80,000 หยวน หรือ 350,000-400,000บาท ปัจจุบันการขนส่งทุเรียนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้ลดต้นทุนเหลือประมาณ 20,000 หยวน หรือ 100,000 บาท ส่งผลให้ในปี 2566 ราคาทุเรียนในจีนลดลง 20 % – 50% 

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการขนส่งทางรถไฟเป็นวิธีที่ประหยัดและเชื่อถือได้มากที่สุดในการขนส่งทุเรียน รถไฟจีน-ลาวได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปอย่างสิ้นเชิง และเพิ่มโอกาสให้กับการส่งออกทุเรียนไทย ให้สามารถแข่งขันกับทุเรียนจากประเทศคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ตลาดจีนมีความต้องการสูง ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตทุเรียนต่าง ๆ ในอาเซียนต่างเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนสดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าได้จากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมถึงทุเรียนที่เพาะปลูกภายในประเทศจีนเอง โดยล้งและผู้ส่งออกของไทย จึงควรรักษาการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทย โดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อน การควบคุมแมลงศัตรูพืช รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ ซึ่งในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของผลไม้ไทยในตลาดจีนและการสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งจากต่างประเทศ จะนำไปสู่การรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนได้ต่อไป