SMEs โอดโควิด-19 ระลอกสามฉุดรายได้เกินครึ่ง

09 พ.ค. 2564 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2564 | 11:40 น.

SMEs โอดโควิดระลอกสาม ฉุดรายได้หายเกินครึ่ง-เร่งปรับแผนรับมือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโอดโควิด-19 ระบาดลอกสามกระทบรายได้หายเกิน 50% แบรนด์ Luxury เผยยอดวูบกว่า 95% หลังลงทุนล่วงหน้าค่าเช่า และวัตถุดิบ ขณะที่แบรนด์ Thaniya รายได้ต่อสาขาลดฮวบ เร่งปรับกลยุทธ์รับมือ 

 

การกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่สาม ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งในภาคการผลิต และภาคบริการที่กำลังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากผลกระทบในสองรอบแรก ให้ทรุดลงไปอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องเร่งปรับแผนงานหรือปรับกลยุทธ์เพื่อประคองธุรกิจ

นายคมศานต์  จิวากานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลักษณ์ โฮเทลซัพพลาย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหมอนโรงแรม 6 ดาว แบรนด์ “Luxury” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ระลอกสามได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแล้วถึง 95% เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้มีการไปลงทุนเพิ่มเติมทั้งการเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งมีการเซ็นสัญญาล่วงหน้าเป็นรายปี รายเดือน ราย 3-6 เดือน เพราะเห็นว่าโควิด-19 ระลอกสองเริ่มคลี่คลาย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการทำตลาดเข้าหาผู้บริโภค 

 

คมศานต์  จิวากานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลักษณ์ โฮเทลซัพพลาย จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนซื้อวัตถุดิบมาเพิ่มเติม รวมถึงการรับพนักงานกลับเข้ามาทำงานตามเดิม มีการวางแผนการตลาดใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น  แต่เมื่อโควิด-19 ระลอกสามระบาด โดยที่ห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ไม่ได้ถูกปิด แต่ไม่มีผู้บริโภคมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทมีการลงทุนไปแล้วแบบเปล่าประโยชน์ ถือเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาดจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นหากเปรียบไปแล้วก็เสมือนหลุมพราง เมื่อผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้า จึงรีบตัดสินใจลงทุน แต่ก็ต้องมาพบการแพร่ระบาดระลอกสามที่ทำให้ต้องตกหลุมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เวลานี้ผู้ประกอบการต้องรู้ตัวเองแล้วว่า  หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้จะทนอยู่ได้อีกเท่าไหร่ สำหรับบริษัทมองว่าคงมีสภาพคล่องอยู่ได้อีกถึงสิ้นปี 2565 จากการคำนวณทรัพย์สินที่สามารถแปลงเป็นเงินทุนได้ กับภาระหนี้สินที่ต้องชำระ” 

อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยลงทุนว่าจ้างทีมงานทางด้านการตลาดออนไลน์แบบมืออาชีพที่มีผลงานพิสูจน์ได้จริงมาร่วมงาน มาช่วยพัฒนา และออกแบบการจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ให้กับบริษัท มองว่าน่าจะช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นในยุคปัจจุบัน 

“การดำเนินการดังกล่าวเหมือนเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้าย หากตลาดออนไลน์เป็นไปอย่างที่คิด  จะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการขายแบบออฟไลน์  เพราะแบรนด์เราค่อนข้างแข็งแรง และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายด้วยตนเอง โดยจะเป็นรูปแบบการให้บริการ Shop From Home  ซึ่งเมื่อลูกค้าสั่งหมอน 1 ใบ บริษัทจะส่งไปให้ทดลองใช้งาน 3 ใบ เพื่อให้ลูกค้าเลือกหมอนใบที่ถูกใจที่สุดเป็นเวลา 14 วัน หลังจากนั้นบริษัทจะไปรับหมอนที่ไม่ถูกเลือกกลับมาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเชื่อว่าด้วยรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทกระจายไปได้ทั่วประเทศ”  

ด้านนางสาวฐาณิญา เจนธุระกิจ กรรมการบริหาร บริษัท ฑี ฐาณิญา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหอมภายใต้แบรนด์ “Thaniya” กล่าวว่า ธุรกิจของตนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากโควิด-19 ระลอกสาม  เพราะมาตรการที่ออกมาไม่ได้ปิดห้างสรรพสินค้า  ทำให้บริษัทยังมีต้นทุนเรื่องของค่าเช่า และค่าจ้างพนักงาน  ซึ่งเสมือนเป็นการจ่ายที่ศูนย์เปล่า  เพราะไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในห้างฯ ขณะที่โรงงานผลิตก็มีการทำงานตามปกติ  เนื่องจากไม่ได้มีคำสั่งให้ปิด เพียงแค่ขอความร่วมมือเท่านั้น  

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก  เพราะรายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายผ่านหน้าร้าน จะเน้นเป็นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ และการส่งออก เรียกได้ว่ามีแต่รายจ่ายแต่ไม่มีรายรับ หากเปรียบเทียบยอดรายได้ที่หายไปเกิน 50% จากเดิมในช่วงที่ขายดีมากจะมียอดอยู่ที่ประมาณ 6 แสนบาทต่อเดือนต่อสาขา ขณะที่รายได้ในเดือนที่ผ่านมามีไม่ถึง 20,000 บาทต่อสาขาเท่านั้น เรียกว่าบางวันขายไม่ได้เลยเป็นสัปดาห์ 

“โควิด-19 รอบแรกรัฐบาลมีคำสั่งปิดห้างฯ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ประหยัดต้นทุนเรื่องของค่าเช่า แต่กับโควิดระลอกนี้ รัฐบาลไม่ได้สั่งปิดทำให้รายจ่ายยังคงมีอยู่  สวนทางกับรายรับที่ไม่มีเข้ามา ทำให้ถูกกระทบค่อนข้างหนัก และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ซึ่งดูแล้วแทบไม่มีความหวังเลย” 

สำหรับแผนรับมือนั้น  ในส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก บริษัทมีการนำเสนอสินค้าใหม่ให้กับลูกค้า ขณะที่ในประเทศก็มีการปรับลดเรื่องของราคาให้ลูกค้าในประเทศเข้าถึงได้มากขึ้น  จากเดิมที่จะเน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีการต่อยอดธุรกิจไปสู่การเปิดแบรนด์ MN Formula ในเดือนที่ผ่านมา เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศ  ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี และบริษัทยังมีการปรับกลยุทธ์มุ่งเข้าหาลูกค้าองค์กรมากขึ้น  ด้วยการออกแบบกลิ่นให้กับคลินิกเสริมความงาม ร้านอาหาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564