ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย(TAC) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีอัตราการป่วยของผู้ป่วยโรคหืดลดลง แต่อัตราการตายจากอาการร่วมของโรคหืดกลับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ worldlifeexpectancy.com พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหืดวันละ 8-9 ราย คิดเป็น 3,142 รายต่อปี คิดเป็น 3.42 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งผู้ใหญ่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า
สาเหตุส่วนใหญ่ คือ ไม่ได้พ่นยาป้องกันหอบต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทัน/ไม่ถูกวิธี เนื่องจากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อมีอาการ ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้าใจเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
‘โรคหืด’ เป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นโรคที่เกิดจากภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ทั้งจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง ตีบแคบเป็นพักๆ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจลำบากตามมา
ปัจจัยแวดล้อมเกิดขึ้นได้ทั้งจากทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย หากครอบครัวมีประวัติหรือผู้ป่วยมีภาวะโรคพบร่วม อย่างภาวะนอนกรนจนอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคอ้วน และอาการภูมิแพ้ รวมถึงสิ่งกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบ เช่น ฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ฝุ่นละอองตามบ้านเรือน ควันบุหรี่ ขนสัตว์/สัตว์เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ สารเคมี เป็นต้น ล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืดได้
“การรักษาผู้ป่วยโรคหืดไม่ใช่รักษาเฉพาะโรคหืดอย่างเดียว แต่จะรักษาโรคร่วม เช่น แพ้อากาศ ไซนัส ไอเรื้อรัง ภาวะนอนกรน กรดไหลย้อน ภาวะอ้วน ทำให้โรคหอบหืดคุมอาการยาก”
ขณะที่ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหืดเป็นอาการเรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ขาดความสม่ำเสมอในการใช้ยา ซึ่งปกติคนไข้จะมียาติดตัว 2 ประเภท คือ
1.ยาควบคุม สำหรับใช้ระยะยาว ช่วยให้รักษาหาย
2.ยาฉุกเฉิน ใช้ในกรณีที่มีอาการหอบกำเริบ ช่วยขยายหลอดลม
แต่ในความเป็นจริง ‘โรคหืด’ สามารถรักษาหาย ยิ่งรักษาเร็วและต่อเนื่องยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยในเด็กมีโอกาสหายมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงกว่าเด็กและพ่นยาได้ยากกว่า เพราะบางคนชินกับอาการจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหืด
ที่สำคัญการรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นต้องสม่ำเสมอเป็นประจำไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่แสดงก็ตาม และต้องสามารถปรับลด/เพิ่มขนาดของยาตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้อาการกำเริบได้
โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 หลายคนเกิดคำถามว่า โรคหืดจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่
เพราะผลการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า คนปกติกับผู้ป่วยโรคหืดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่แตกต่างกัน แต่หากผู้ป่วยโรคหืดได้รับเชื้อโควิด-19 อาจมีภาวะปอดอักเสบรุนแรงมากกว่า กลับกันการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นในผู้ป่วยโรคหืดเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แบบรุนแรง
หากแต่เมื่อเป็นโรคหืดแล้ว อัตราการสูญเสียทั้งชีวิต ซึ่งจากสถิติในประเทศไทยมีถึง 7,000 คนต่อปี และคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลารักษาตัว ทำให้สูญเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตกรณีที่ป่วยเป็นระยะยาวนาน จากอาการเรื้อรังของโรคมีมากกว่า
ความเข้าใจผิดอีกประการ คือ ผู้ป่วยโรคหืดไม่ควร/ไม่สามารถออกกำลังกายได้...ไม่เป็นความจริงทั้งหมด เพราะโรคหืดอาจแย่ลงในผู้ป่วยบางรายหลังออกกำลังกาย แต่ความจริง คือ การออกกำลังกายที่เหมาะสมช่วยให้อาการหอบหืดดีขึ้น เป็นเป้าหมายในการรักษาให้คนไข้หายจากอาการป่วยและสามารถออกแรงได้เหมือนคนปกติทั่วไป
สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) จึงมีความพยายามอย่างยิ่งในการสร้างแนวทางการรักษาโรคหืดให้เป็นมาตรฐาน สำหรับแพทย์เฉพาะทางและแพทย์ทั่วไปใช้ในการดูแลคนไข้โรคหืดได้อย่างเท่าทันด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมาก/น้อยแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่ออัพเดตข้อมูลแนวทางการรักษาใหม่ในระดับสากล รวมถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์แยกแยะปัญหา จำแนกปัจจัยความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบให้มีผู้เป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น เช่น ระดับความยากจนส่งผลต่อสภาพการใช้ชีวิตและอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืด
การปรับตัวในการให้ความรู้ผ่านระบบ E-Learning และส่งข้อมูลไปยังสมาชิกทั่วโลกได้นำไปวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาจนตกผลึกเป็นแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหืดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่ายการดำเนินงานของคลินิกโรคหืดและ
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ส่งเสริมให้มีสถานบริการสาธารณสุขโรคหืดทั้งในระดับโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาคทั่วประเทศ โรงพยาบาลทั่วไป จนถึงโรงพยาบาลชุมชน ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษา เข้าถึงยาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทางสมาคมฯ ยังยืนหยัดตั้งมั่นกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง ผลักดันระดับนโยบายที่ได้รับการผลักดันต่อเนื่อง ให้คนเข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกัน
เพื่อให้ทุกคนตื่นรู้ถึงภัยของโรคหืด แต่ไม่ตื่นกลัว เพราะโรคหืดไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หากรู้จักสังเกต ดูแลและรับประทานยาในการรักษาอย่างถูกต้องเป็นประจำสม่ำเสมอก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี หายขาดจากโรคได้
นอกจากนี้ รศ. นพ. ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) ได้กล่าวเสริมว่า เนื่องในโอกาสวันโรคหืดโลก หรือ World Asthma Day ถือได้ว่าเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่มีการจัดตั้งวันหืดโลกในปี 2541 ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มทำงานทางด้านสาธารณสุข
เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาโรคหืดให้เกิดมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วโลก โดยมีความเท่าเทียมกันทั้งในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การวินิจฉัย และการรักษา รวมทั้งยังให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรทางด้านการสาธารณสุข (Healthcare accessibility)
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าความรู้เกี่ยวกับโรคหืด และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืดในยุคที่ social media สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวินิจฉัยการรักษาโรคหืด (Information accessibility) ในบางด้าน ซึ่งจะต้องได้รับการปรับปรุงและแก้ไข เนื่องจากความเข้าใจผิดบางอย่างอาจมีผลต่อการวางแผนการรักษาและการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคหืด
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการพูดถึงข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งของโรคหืด ที่ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยโรคหืดจำนวนมากที่อาจเข้าใจผิด ซึ่งสมาคมฯ กำลังเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตาม Theme ของ World Asthma Day 2021 ที่มีหัวข้อว่า Uncovering Asthma Misconception หรือ ปลดล็อคความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้ ได้แก่ 1. โรคหืดเป็นโรคติดเชื้อและสามารถติอต่อกันได้ ซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง คือ โรคหืดไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่การติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ทำให้อาการหืดกำเริบ หรือมีอาการแย่ลงได้ การรักษาโรคหืดด้วยยาสูดพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
2. การรักษาหืดต้องใช้ยาสเตียรอยด์ที่สูดพ่นในขนาดสูงเพื่อรักษาโรค คำตอบคือ ไม่จริง การรักษาโรคหืดมีการปรับลดยา ขนาดของยาควบคุมโรคหืดสามารถจะปรับ ขึ้นๆ ลงๆ ตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดเองในผู้ป่วยเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้
3. โรคหืดทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ และไม่ควรออกกำลังหากผู้ป่วยมีโรคหืด คำตอบคือ ไม่จริง การออกกำลังกายช่วยให้อาการหืดดีขึ้น แต่โรคหืดอาจแย่ลงในผู้ป่วยบางรายหลังออกกำลังกาย ซึ่งเป้าหมายในการรักษาโรคหืด นอกจากทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการแล้วยังต้องทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการออกแรงเหมือนคนปกติทั่วไปที่ไม่มีโรคหืดอีกด้วย
4. โรคหืดเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่จริง จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าผู้ป่วยโรคหืดใน cohort หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อ COVID-19 แต่อาจพบความรุนแรงของโรคปอดอักเสบมากกว่าผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่มีโรคหืด และพบว่าปัจจัยเรื่องตัวรับเชื้อไวรัสในผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับยาสูดพ่นคอน์ติโคสเตียรอยด์ ลดลง ดังนั้นโรคหืดจึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และการรักษาโรคหืดด้วยยาสเตียรอยด์สูดพ่นเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19
ในโอกาสวันโรคหืดโลกเดือนพฤษภาคมครั้งนี้ จึงอยากเน้นย้ำให้ทุกคนตื่นตัวถึงภัยของโรคหืด พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วย อย่างเป็นระบบในองค์รวมทั้งระดับบุคคล องค์กร สมาคม และประเทศต่อไป