ภัยพิบัติดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และ น้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้น แต่ละครั้งมีผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นจำนวนมาก กระทบการพัฒนาประเทศต้องสะดุด เนื่องจากงบประมาณที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดต้องถูกนำไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
“กรมทรัพยากรธรณี” เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจรับผิดชอบด้านการเฝ้าระวังการเกิดธรณีพิบัติภัย ในแต่ละปีจะมี การแจ้งเตือนภัย พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม เพื่อเตรียมอพยพผู้คน ซึ่งในฤดูฝนปี 2564 นี้มีพื้นที่ใดมีความเสี่ยงดินถล่มบ้างนั้น
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีและโฆษกประจำกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ได้เกิดปรากฏการณ์ลานีญ่า จะเห็นว่าช่วงเดือนเมษายน อยู่ในช่วงฤดูร้อน มีฝนตกตลอด เพราะอิทธิพลเปลี่ยนในเรื่องของภูมิอากาศ และช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ผลจากการศึกษาของกรมจะมีการแจ้งภัยพิบัติโดยเฉพาะ พื้นที่เสี่ยงดินถล่มปีนี้ มี 54 จังหวัด 331 อำเภอ 1,084 ตำบล 1.16 หมื่นหมู่บ้าน
ทั้งนี้ดินถล่มในไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก แบ่งเป็นรายภาคที่มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มสูงสุด ได้แก่
ภาคเหนือ มีโอกาสเกิดดินถล่มมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน
ภาคใต้ มีโอกาสเกิดดินถล่ม ช่วงกลางเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการเกิดดินถล่มน้อยกว่าภาคเหนือและภาคใต้ โดยมีโอกาสเกิดดินถล่มช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เนื่องจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่าน
นายมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เกิดดินถล่มคือ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งตกมากกว่า 100 มิลลิเมตรติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน ซึ่งได้นำมาสร้างแบบจำลอง คาดการณ์ และเฝ้าระวัง หากมีสถานการณ์เกิดขึ้นจริงฝนตกจะได้แจ้งเครือข่ายให้ตรียมการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัย ขั้นสุดท้ายคือการอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยโดยแผนที่เสี่ยงภัยจะส่งข้อมูลลงไปให้ตั้งแต่อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนนำไปใช้ในการวางแผนการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยในชุมชนต่อไป
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยเข้าสู่ "ฤดูฝน" อย่างเป็นทางการ 15 พ.ค.นี้ (มีคลิป)
พลิกสถิติ “ฤดูฝน” มาเร็วที่สุด ปี2554 แต่ไม่ซ้ำรอย “น้ำท่วมใหญ่”
เตือน “ลานีญา” ทิ้งทวน ระวังน้ำท่วม