การค้าชายแดนกับเมียนมาผ่านด่านระนอง-เกาะสองสุดคึกคัก หลังสินค้าในเมียนมาขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้น แต่การสู้รบของททารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวพรมแดน ทำให้การขนส่งสินค้าทางบกมีความเสี่ยง พ่อค้าหันมาใช้ด่านระนองเพื่อขนส่งทางเรือแทน
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้การค้าชายแดนกับเมียนมา ผ่านด่านระนอง-เกาะสอง มีบรรยากาศที่คึกคักมาอย่างต่อเนื่อง แม้ต่างอยู่ในภาวะเผชิญการระบาดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อมีการขนส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ รอผ่านด่านท่าระนองเป็นจำนวนมาก อาทิ ปูนซิเมนต์ น้ำมัน สินค้าอุปโภค-บริโภค ที่พบว่ามีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว
เนื่องจากช่วงนี้เป็นหน้าแล้งทำให้ผู้ซื้อในเมียนมาเร่งให้ขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปูนซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และเชื้อเพลิง เพื่อตุนไว้ใช้งานในโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่กำลังเร่งดำเนินการอย่างมากในพื้นที่ทางใต้ของเมียนมาตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ก่อนที่จะเข้าฤดูฝนซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า
แต่ประการสำคัญที่สมทบเข้ามาในปีนี้มาจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา ส่งผลให้การขนส่งสินค้าผ่านด่านทางบก ตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมา เริ่มไม่ปลอดภัยจากการสู้รบ ทำให้พ่อค้าบางส่วนที่เคยใช้เส้นทางบกในการขนส่ง เปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางเรือผ่านช่องทางระนองแทน ซึ่งมีความปลอดภัย อีกทั้งยังส่งได้ครั้งละมากกว่าการขนส่งทางบก จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดจึงทำให้บรรยากาศด่านการค้าชายแดนด้าน จ.ระนองมีความคึกคักในลักษณะสวนกระแสสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายนิตย์กล่าวอีกว่า การค้าชายแดนกับเมียนมาที่ผ่านมาจะขนส่งสินค้าให้กัน 2 ประเภท คือ การขนส่งทางบก หรือทางถนน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการส่งไม่เกิน 3 วัน จากด่านพรมแดนต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศมี ได้แก่ ด่านแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ตรงข้ามเมืองเมียวดี ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ตรงข้ามอำเภอท่าขี้เหล็กของเมียนมา ด่านบ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ตรงข้ามกับเมืองทวาย ด่านสิงขร ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ตรงข้ามกับเมืองมะริด ส่วนด่านระนอง จังหวัดระนอง อยู่ตรงข้ามกับเกาะสอง ของเมียนมา เป็นการขนส่งทางเรือ หรือทางทะเล
ส่วนระบบในการจัดส่งสินค้าข้ามพรมแดนนั้น จะต่างจากการจัดส่งพัสดุสิ่งของภายในประเทศ ที่พนักงานจะนำส่งสิ่งของถึงบ้านผู้รับตามที่ระบุได้ทันที แต่การส่งสินค้าข้ามพรมแดนนั้น พัสดุหรือสินค้าจะถูกส่งอยู่ที่ด่านชายแดนหรือที่ท่าเรือของไทย เพื่อรอส่งต่อหรือให้บริษัทขนส่งภายในของเมียนมามารับไปอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเจ้าของสินค้าหรือผู้จัดส่งต้องติดต่อประสานงาน ว่าใครจะเป็นผู้เข้ามารับสินค้าเพื่อไปนำส่งในเมียนมา
การขนส่งทางเรือ เป็นวิธีที่ใช้กันมานานและเป็นสากล ส่วนมากมักใช้ในการจัดส่งของชิ้นใหญ่ โดยจะใช้เวลาประมาณ 14 วันจากไทยไปถึงกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งการขนส่งทางบกจะรวดเร็ว ใช้เวลาสั้นกว่าการขนส่งทางเรือ แต่มีต้นทุนสูงกว่า เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าที่ต้องรีบใช้ สิ่งอุปโภคบริโภค หรือของที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ส่วนการขนส่งทางเรือใช้เวลามากกว่าแต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อชิ้นต่ำกว่า จึงเหมาะกับสินค้าที่ไม่เร่งรีบ เป็นของชิ้นใหญ่ น้ำหนักมาก ของที่ส่งเป็นล็อตใหญ่ อาทิ ชุดเฟอร์นิเจอร์ ปูนซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิง เครื่องจักรกล ไม่เหมาะกับของชิ้นเล็กที่อาจสูญหายได้
ทั้งนี้ การค้าชายแดนที่หันไปใช้ด่านระนองแทนนัั้นทำให้บางช่วงมีรถบรรทุกสินค้า ที่นำสินค้ามายังท่าเรือระนองเพื่อรอส่งข้ามฟากไปยังฝั่งจ.เกาะสอง ต้องจอบเทียบท่าที่ท่าเรือเป็นจำนวนมากนับ 50-70 คัน
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง