โรงแรม-ธุรกิจการบินไตรมาส1 ปี64ขาดทุนอ่วม เร่งหาเงินตุนสภาพคล่อง

24 พ.ค. 2564 | 07:05 น.

ปิดฉากธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปี 64 โรงแรม-การบิน อ่วมโควิดระลอก 2 จากดีมานต์นักท่องเที่ยว-เที่ยวบินหดตัว ชี้ไตรมาส 2-3 หนักกว่า จากโควิดระลอก 3 ที่รุนแรงกว่า ธุรกิจเร่งตุนเงิน หาแหล่งเงินประคองตัวรอสถานการณ์ดีขึ้นหลังฉีดวัคซีน

ผลประกอบการของธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ย่ำแย่ เป็นผลกระทบจากโควิด-19ระลอก 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.ปี 63 โรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขาดทุนถ้วนหน้า ขณะที่ธุรกิจด้านการบินขาดทุนหนักทุกสาย

ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 20,172 คน หดตัว 99.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย อยู่ที่ 17.17 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 31.24% สร้างรายได้ 9.26 หมื่นล้านบาท หดตัว 51.05%

ขณะที่ปริมาณการเดินทางทางอากาศในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 6.66 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาจำนวน 25.27 ล้านคน คิดเป็น 79.1% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 195,799 คน ลดลง 98.8% และผู้โดยสารภายในประเทศ 6.47 ล้านคน ลดลง60.1%

ส่วนปริมาณเที่ยวบินช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไทยมีเที่ยวบินทั้งหมด 78,621 เที่ยวบิน ลดลงจากปีที่ผ่านมาจำนวน 154,398 เที่ยวบิน คิดเป็น 66.3% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 15,958 เที่ยวบิน ลดลง 84% และเที่ยวบินในประเทศ 62,663 เที่ยวบิน ลดลง 53%

เช่นเดียวกับการใช้บริการท่าอากาศยานที่ลดลงทุกแห่ง อาทิ สนามบินดอนเมืองลดลง 76.2% สนามบินสุวรรณภูมิ ลดลง 87% สนามบินภูเก็ต ลดลง 88% ก็ไตรมาส 2 ปีนี้ตามปีงบประมาณ (ม.ค.-มี.ค.64) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.จึงขาดทุนไป 3,644 ล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 3,647 ล้านบาท

ส่วนสายการบินต่างๆก็ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง จากดีมานด์ผู้โดยสารที่ยังไม่เหมือนเดิมและผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ที่มาเป็นระยะซึ่งผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ว่าแย่แล้ว แต่ผลจากโควิดระลอก 3 ที่รุนแรงกว่าจะทำให้ผลประกอบการของธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีนี้ปักโกรกขึ้นไปอีก

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าต้องยอมรับว่าในไตรมาส 1 ปีนี้ ดุสิตธานี มีผลกำไรจากแผนการปรับโครงสร้างทางการเงิน การกระจายการลงทุน เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ในธุรกิจที่มีความหลากหลาย การปรับโครงสร้างองค์กรเป็นหลัก แต่ผลประกอบการในไตรมาสนี้ ยังไม่ได้สะท้อนการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ และคาดว่าจะส่งผลกดดันผลประกอบการในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ 

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนยังคงต้องระมัดระวังในการบริหารสภาพคล่องและเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับสถานการณ์ตลอดเวลา

นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เผยว่าบริษัทจะยังคงระมัดระวังในการบริหารจัดการกระแสเงินสดและสภาพคล่องผ่านมาตรการการลดค่าใช้จ่ายและการลงทุนต่อไป นอกจากนี้จะบริหารจัดการฐานะทางการเงินเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยมองหาวิธีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ในขณะเดียวกันก็ยังคงเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในสภาวะวิถีชิวิตใหม่

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) กล่าวว่า เราจำเป็นต้องเข้าถึงเเหล่งเงินทุน เพื่อรอดจากสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งน่ายินดีที่ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เราทำแผนปรับโครงสร้างกิจการสำเร็จ และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน จากแผนนี้จะทำให้ไทยแอร์เอเชียมีเงินทุนรวม 6,825 ล้านบาท มาเพิ่มสภาพคล่องประคองธุรกิจได้อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งแหล่งทุนจะมาจากนักลงทุนรายใหม่ เเละการนำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัดหรือ TAA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เเทน AAV

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: