ชื่อของ “โรงพยาบาลวิมุต” ถือเป็นน้องใหม่ในแวดวงธุรกิจเฮลท์แคร์ แต่หากดูแบล็คอัพและทีมขุนพล ที่นั่งบัญชาการ ต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดา จากกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ระดับแนวหน้าของประเทศ “พฤกษา เรียลเอสเตท” ที่ตัดสินใจขยายการลงทุนเพื่อสร้าง Medical Ecosystem และ Community Health Hub หวังรองรับฐานลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ วันนี้ “โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง” พร้อมสยายปีกรุกธุรกิจเต็มตัว ด้วยเป้าหมาย 5 ปี กับการใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด หลังโรงพยาบาลวิมุตเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยแล้ว 1 เดือนเต็ม ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
5 ปี ลงทุนหมื่นล้าน
“น.พ.กฤตวิทย์” บอกว่า การเปิดให้บริการโรงพยาบาลวิมุตในช่วงนี้คนไข้ที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มาเพื่อตรวจสุขภาพ เพราะทุกแผนกพร้อมเปิดให้บริการทั้งกระดู ตา จมูก เด็ก เป็นต้น โดยมีทั้งแพทย์ประจำและแพทย์ที่ปรึกษาคอยให้บริการ โดยจุดเด่นของโรงพยาบาลวิมุต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) ซึ่งสามารถรักษาโรคซับซ้อนและรุนแรงได้ โดยโรงพยาบาลแห่งนี้ใช้งบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 4 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน
ถือเป็นศูนย์กลางในการให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมศูนย์แพทย์เฉพาะทางไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กระดูก หัวใจ สมอง เบาหวาน และศูนย์ผู้สูงอายุ รวมทั้งการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และอนาคตจะให้บริการ Nursing Home ในโรงพยาบาลด้วย
สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทใน 5 ปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาทในการเดินหน้ารุกธุรกิจเฮลท์แคร์ โดยเริ่มตั้งแต่การ
เข้าถือหุ้นในโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ย่านพระราม 4 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงด้านโรคเบาหวาน โดยบริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 51% ด้วยเงินลงทุนราว 700 ล้านบาท และจะใช้เงินอีกกว่า 200 ล้านบาทในการรีโนเวทอาคาร และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อให้มีความทันสมัย พร้อมแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้ป่วยในการรักษา
“แบรนดิ้งของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ซึ่งอยู่มายาวนานเกือบ 40 ปีย่อมมีความแข็งแรง และด้วยความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเบาหวานทำให้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตทั้งสองโรงพยาบาลมีแนวคิดในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ส่วนจะใช้แบรนด์ใดนั้น จะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง”
สร้างคอมมูนิตี้ เฮลท์แคร์
ที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องของดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Hospital Information System) เป็นอย่างมาก ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยภายในการให้คำปรึกษาผ่านระบบแอพพลิเคชั่น การนัดหมาย พูดคุย กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของโรงพยาบาลในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลงทุนโรงพยาบาลระดับตติยภูมิอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและหาทำเล ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระดับ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป เพราะต้องลงทุนทั้งเรื่องที่ดินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยรูปแบบการลงทุนจะมีทั้งการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน รวมถึงการลงทุนเองทั้งหมด
น.พ.กฤตวิทย์ กล่าวอีกว่า พฤกษาฯ ถือเป็นคอมมูนิตี้ที่มีความแข็งแรงอย่างมาก และเป็นจุดแตกต่างที่จะทำให้โรงพยาบาลสามารถเข้าไปสร้างเป็นคอมมูนิตี้ ด้านเฮลท์แคร์ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงมีแผนเปิด “วิมุต เฮลท์ เซ็นเตอร์” ขึ้น โดยให้บริการทั้งคลินิกรักษาผู้ป่วยทั่วไป ศูนย์กายภาพ ศูนย์ดูแลและบริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มลงทุนแล้วโดยแห่งแรกจะตั้งอยู่ภายใน Pruksa Avenue ย่านสุขาภิบาล 2 ด้วยงบลงทุนราว 100 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในกลางปี 2565 พร้อมกับขยายสาขาต่อเนื่อง จากทำเลที่มีศักยภาพที่เชื่อว่าจะสามารถขยายการให้บริการได้มากถึง 10 สาขา โดยตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการ 2 สาขาต่อปี
“วิมุต เฮลท์ เซ็นเตอร์ สาขาสุขาภิบาล 2 เป็นโมเดลต้นแบบ ที่จะให้บริการครบวงจร ทั้งคลินิกตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป ศูนย์กายภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว หลังเปิดให้บริการที่นี่จะเป็นต้นแบบเพื่อนำไปใช้สร้างในคอมมูนิตี้ อื่นๆ ของโครงการพฤษภา ที่ปัจจุบันมีกระจายอยู่หลายจุดและอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ”
พร้อมฉีดวัคซีนโมเดอร์นา
อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ยังรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจทำให้โรงพยาบาลเองมีการประชุมปรับแผนการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยหลังเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าโรงพยาบาลจะมีรายได้ราว 300-400 ล้านบาท ขณะเดียวกันโรงพยาบาลมีแผนให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” กับผู้สนใจซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้วจำนวนมาก และโรงพยาบาลได้สั่งจองซื้อวัคซีนผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไปแล้วเช่นกัน โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนและสามารถฉีดให้บริการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564