นายวิเศษ รังษีสิงพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนล่า ซุปเปอร์ฟู้ดส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ว่าตลาดซูเปอร์ฟู้ดในต่างประเทศจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่สำหรับประเทศไทยซูเปอร์ฟู้ดยังถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ด้วยเชื่อมั่นว่าตลาดมีศักยภาพ ทำให้บริษัทเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ซูเปอร์ฟู้ดในเมืองไทยเมื่อ 3 ปีก่อน โดยเริ่มต้นจาก “อาซาอิ เบอร์รี่” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดมียอดขายหลักหมื่นขวดในปีแรก และเติบโตขึ้น 200%ในปีที่ 2
ทำให้ขยายไลน์สินค้าทั้งในอาซาอิ เบอร์รี่ , สาหร่ายคลอเรลล่า, NOLA Avocado ,KRILL OILและ”เครื่องดื่ม มานูก้า ฮันนี่ ส่งผลให้มียอดขายกว่า 7 แสนขวดต่อเดือน แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2564 ยอดขายจึงชะลอตัวลง แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคจำนวนหนึ่งหันให้ความสำคัญกับการรับประทานวิตามินซีมากขึ้น เพื่อป้องกันหวัด เชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการรุกตลาด ล่าสุดบริษัทได้ส่งผลิตภัณฑ์ ซี พลัส วิตามินซีที่สกัดจากซูเปอร์ฟู้ด 4 ชนิดออกสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขาย
“เดิมบริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโต 100-200 % ในปีนี้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทหันมาปรับบิสิเนสโมเดลใหม่จากเดิมที่จะขยายกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ หันกลับมาสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าเดิม พร้อมรุกขยายทำตลาดในผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อขยายยอดขายจากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในมือก่อน”
ในอนาคตบริษัทมีแผนปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม เพื่อวางขายในร้านสะดวกซื้อในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสินค้าตัวใดที่เรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดวางจำหน่าย ในขณะที่สินค้าเดิมของบริษัทยังมีราคาที่สูงเกินไปสำหรับร้านสะดวกซื้อและฐานลูกค้าเดิมยังจำกัดอยู่ในกลุ่ม A และ B ที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง
“เราพยายามที่จะเป็นผู้บุกเบิกตลาด เราอยากให้เมื่อพูดถึงซูเปอร์ฟู้ดต้องนึกถึงโนล่า ซุปเปอร์ฟู้ดส์ เป็นอันดับแรก ผมคิดว่าภายใน 3-5 ปีจากนี้คนไทยจะรู้จักซูเปอร์ฟู้ดในระดับหนึ่ง และหลังจากผ่านช่วงโควิดไป เชื่อว่าน่าจะเป็นโอกาสที่บริษัทจะทำตลาดได้คึกคักยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มสนใจเรื่องของสุขภาพ วัคซีน และวิตามินต่างๆ และมีผู้บริโภคหน้าใหม่ติดต่อเข้ามาสอบถามและซื้อสินค้าจากบริษัทจำนวนมาก”
สำหรับการทำตลาดปีนี้บริษัทเตรียมใช้งบ 30 ล้านบาท โดยมีแคมเปญออกสู่ตลาดเมื่อเดือนที่ผ่านมาหลังจากเลื่อนมาถึง 2 เดือนจากสถานการณ์โควิด และในครึ่งปีหลังบริษัทจะกลับมาทำการตลาดตามแผนเดิมที่เคยวางไว้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งบริษัทได้วางอีโคซิสเต็มครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายตัวจริงของแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยว”
ส่วนตลาดต่างประเทศ บริษัทตั้งเป้าส่งออกไปที่ สปป.ลาว เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และจีนเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้มีความสนใจสินค้าของบริษัทและสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในแง่ของสินค้าเพราะนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งต้นกำเนิดเข้ามาผลิตเองในประเทศโดยมีทั้งโรงงานผลิตของตัวเองและจ้างผลิตในสินค้าบางตัว
“หลังจากโควิดคลี่คลาย การตลาดของเราจะเข้มข้นขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงเม็ดเงินที่เราจะต้องลง แต่จะเป็นช่องทางที่จะอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจ เข้าถึงและตรงจุด จริงๆปีนี้เรามีแผนที่จะไปออกงาน exhibition ที่จีนก็ต้องเลื่อนออกไป และกลับมาโฟกัสการตลาดให้ถึงกลุ่มคนที่รักซูเปอร์ฟู้ดอยู่แล้วให้เขารักมากขึ้นและรู้จักมากขึ้น รวมทั้งสื่อสารให้กลุ่มที่เดิมทานอาหารเพื่อสุขภาพอยู่แล้วเปิดใจให้กับซูเปอร์ฟู้ดมากขึ้น”
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :