โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการสำคัญภายใต้นโยบายเร่งด่วนของของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้มีงาน มีรายได้ที่มันคงและยั่งยืน รวมทั้งต้องการสกัดการไหลบ่าแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา และวางเป้าหมายจะต้องพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ให้ครบ 4,009 ตำบล เกษตรกรมีเข้าร่วมโครงการจำนวน 32,000 ราย และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 16,000 ราย ให้แล้วเสร็จภายในธันวาคม 2564 หรือในอีก 7 เดือนข้างหน้า
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึง ความก้าวหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ว่า แม้ที่ผ่านมาการดำเนินงานจะมีข้อจำกัดและอุปสรรคอยู่บ้างส่งผลให้หลายกิจกรรมไม่เป็นไปตามแผน แต่ได้เร่งรัด กำชับให้แต่ละหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปตามแผน จากการเร่งรัด ติดตามทราบว่าขณะนี้การดำเนินงานมีความก้าวหน้ากว่า 85 % ใน 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมคัดเลือกจ้างงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบล
ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย.2564 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 29,537 ราย จากเป้าหมาย 32,000 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรทั่วไปจำนวน 28,166 ราย และเกษตรกรโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ (5 ประสาน) จำนวน 1,371 ราย ส่วนกิจกรรมคัดเลือกจ้างงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบล มีการจ้างงานแล้วจำนวน 14,078 ราย จากเป้าหมาย 16,000 ราย และได้จัดส่งคู่มือมือการปฏิบัติงานแล้วจำนวน 50,000 เล่ม และได้มีการเช่าใช้พื้นที่การดำเนินการระบบสารสนเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯเพื่อสนับสนุนโครงการ 1 ตำบลฯอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามี 2 กิจกรรมที่การดำเนินการล่าช้าไปจากแผนงานที่วางไว้ นั่นคือ กิจกรรมฝึกอบรมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในกระบวนการเรียนรู้เวทีที่ 1 ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่และกิจการการขุดสระเก็บน้ำหรือกิจกรรมการปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการอบรมเกษตรกรขณะนี้มีเพียง 6 จังหวัดที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว คือ กระบี่ นครปฐม น่าน ระนอง ลำพูน และนครนายก และกำลังอยู่ระหว่างจัดอบรมอีก 64 จังหวัด สาเหตุที่เกิดความล่าช้าไปจากแผนงานที่กำหนด เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ทำให้มีข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงจะเร่งจัดกิจกรรมดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามแผนงานให้เร็วที่สุด
ส่วนผลดำเนินงานกิจการการขุดสระเก็บน้ำหรือกิจกรรมการปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ถือเป็นกิจกรรมที่มีความล่าช้ามากที่สุด มีการดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 5,801 บ่อ สาเหตุที่เกิดความล่าช้า ปัญหาหลักเกิดจากเกษตรกรมีการยกเลิกการเข้าร่วมโครงการฯ และมีการเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลต่อการดำเนินการขุดสระเก็บน้ำและการบริหารสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความล่าช้าออกไป
นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่ดำเนินการโครงการบางพื้นที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูก จึงทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำได้ อีกทั้งช่วงระยะเวลาการดำเนินงานโครงการเข้าสู่ฤดูฝนบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังส่งผลให้เครื่องจักรไม่สามารถดำเนินการขุดสระเก็บน้ำได้
“เพื่อให้แผนงานขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ประสบความสำเร็จภายใน 7 เดือนข้างหน้า ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนในพื้นที่ ปัญหาเกิดได้แต่เป้าหมายต้องไม่เปลี่ยน เกษตรกรจะต้องได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วน โดยขณะนี้ผมได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด ติดตาม พร้อมเกาะติดการดำเนินงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาติดขัดหรือพบอุปสรรคหรือข้อจำกัดด้านใดให้เร่งรายงานมายังกระทรวงเกษตรฯ ในทันที เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลังกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปขุดสระเก็บกักน้ำและปรับปรุงดินเรียบร้อยก็มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงไปแจกปัจจัยการผลิต ด้านพืช สัตว์ ประมงต่อไป รวมทั้งมีแผนที่จะต่อยอดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอีกหลายอย่าง นำมาเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้เกิดขึ้นในชุมชนตามมาอีกมากมายในอนาคต” นายทองเปลว กล่าว
ขณะที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาคเกษตรไทยจากความสำเร็จของ “โครงการ1ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” ในอนาคตคือ ประเทศไทยจะมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มขึ้น รวม 192,432 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีพื้นที่กักเก็บน้ำ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อราย และเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพทำเกษตรกรรมยั่งยืนและมีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่ม รวมทั้งจะเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ในพื้นที่จำนวนกว่า 3.2 หมื่น ราย ซึ่งนอกจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชนในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :