สสว.เร่งสะสางงบ กว่า 100ล้าน ดึงช่วยรายเล็ก-เร่งSMEคนละครึ่ง

28 มิ.ย. 2564 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2564 | 03:46 น.

สสว.เร่งตรวจสอบงบภายในองค์กรที่ยังไม่สามารถถนำออกมาใช้ได้กว่า 100 ล้านบาท พร้อมเตรียมนำเสนอนายกรัฐมนตรีเร่งช่วยเอสเอ็มอี ขณะโครงการ “SME คนละครึ่ง” อยู่ระหว่างหารือกับ ส.อ.ท. และสภาหอการค้าฯเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการช่วยที่เหมาะสม 

วิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาวเป็นปีที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มีกว่า 3.2 ล้านรายเวลานี้ส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ลดลง และขาดสภาพคล่อง ต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน รวมถึงพึ่งพาภาครัฐในการเยียวยาและฟื้นฟูธุรกิจเพื่อไปต่อ

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร (ประธานบอร์ด) (สสว.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการสะสางงบภายใน สสว. ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 100 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้  เนื่องจากติดขัดเรื่องของกฎเกณฑ์ และรูปแบบเฉพาะ ทำให้ไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยอาจจะต้องนำมาปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จำเป็น และลำดับความสำคัญใหม่  

มงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร (ประธานบอร์ด) (สสว.)

คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่ช้า เพื่อนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการหาหน่วยงาน หรือองค์กรเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ในภาวะวิกฤติ โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยความรอบครอบ 

“สสว. จะมีลักษณะของการใช้กฎหมายพิเศษในรูปแบบของกองทุน ทำให้บางโครงการไม่สามารถขับเคลื่อนงบประมาณออกไปสู่ผู้ประกอบการได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องของกฎเกณฑ์ในการเข้าถึง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเข้าไปดูในรายละเอียดว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อนำงบประมาณที่เหลืออยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”  

นายมงคล กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการ “SME คนละครึ่ง” ว่า ปัจจุบันได้มีการนำร่องโครงการแบบไม่เป็นทางการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยใช้งบประมาณจำนวนไม่มากกับกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายที่ถูกคัดเลือก เพื่อเป็นการศึกษา และเรียนรู้ให้เห็นถึงปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการว่ามีตรงไหน ส่วนใดบ้าง เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นโครงการสู่เอสเอ็มอี 

    ทั้งนี้เอสเอ็มอีแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม และมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป เช่น เวลานี้การส่งออกกำลังฟื้นตัว จากแรงซื้อของต่างประเทศซึ่งมีความต้องการสินค้าจากประเทศ ไทย หากนำเงินไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าวก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก  

“ช่วงเวลาในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือถือว่าสำคัญโดยจะต้องหามาตรการที่ออกมาแล้วช่วยทุกสาขาอาชีพได้ครบ และช่วยแก้ปัญหาจากวิกฤติได้ตรงกลุ่ม เช่น กลุ่มท่องเที่ยว พออยู่ช่วงวิกฤติ และเกิดปัญหาแบบทันทีทันใดก็ไม่สามารถที่จะเยียวยาได้  เพราะไม่สามารถจำแนกข้อมูล หรือพื้นฐานในการบริหารจัดการได้ โดยต้องยอมรับว่าหน่วยงานรัฐมีจุดอ่อน เรื่องความคล่องตัว เมื่อลงภาคปฏิบัติก็มีปัญหา” 

นายมงคล กล่าวอีกว่า โครงการคนละครึ่งที่ใช้ในต่างประเทศนั้น ถูกใช้เพื่อยกระดับ หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมหนึ่งไปยังอีกภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเยียวยา หรือฟื้นฟู เช่น เมื่อรัฐบาลต้องการใช้เทคโนโลยี หรือระบบอัตโนมัติ หรือผลวิจัย ก็จะมีงบประมาณในการช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่นมีการใช้ในรูปแบบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเกิดประสิทธิผล ช่วยยกระดับเอสเอ็มอีจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการต่อ หรือแข่งขันได้ให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ 

“ความร่วมมือกับ ส.อ.ท. และสภาหอการค้าฯ ยังคงดำเนินต่อไป  โดยอยู่ในช่วงของการหารือเพื่อนำไปสู่แนวทางของการปฏิบัติได้อย่างตรงจุด”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :