ทำไม "ธรรมนูญครอบครัว" ล้มเหลว สำคัญแค่ไหนในธุรกิจครอบครัว

04 ก.ค. 2564 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2564 | 11:52 น.

คอลัมน์ Designing Your Family Business ธุรกิจครอบครัวที่มีความยั่งยืนล้วนแต่มีกลไกที่สร้างสมดุลของครอบครัวและธุรกิจของตัวเองทั้งสิ้น และหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญคือ ธรรมนูญครอบครัว (family constitution)

ธรรมนูญครอบครัว (family constitution) ที่มักประกอบไปด้วยค่านิยมและวิสัยทัศน์ของครอบครัว กฎเกณฑ์ในการจ้างงานสมาชิกในครอบครัว การสืบทอดธุรกิจ สิทธิและความรับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัวทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

 

โดยธรรมนูญครอบครัวได้รับความนิยมในธุรกิจครอบครัวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีธรรมนูญครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่ล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จตามที่ครอบครัวหวังไว้ด้วยเหตุผลหลายประการ

 

ส่วนใหญ่แล้วผู้นำธุรกิจครอบครัวมักเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการสร้างธรรมนูญครอบครัว ด้วยความช่วยเหลือของที่ปรึกษาจากภายนอก ด้วยการรวบรวมความต้องการ และความคาดหวังของสมาชิกในครอบครัว

 

จากนั้นจึงจัดทำเป็นเอกสารธรรมนูญครอบครัวขึ้นโดยหารือกับสมาชิกในครอบครัวแล้วมีการให้สัตยาบันในท้ายที่สุด ซึ่งเมื่อหาข้อมูลเชิงลึกลงไปก็พบว่า “การให้คำปรึกษา” นั้นมีระดับของการมีส่วนร่วมและการเปิดกว้างในแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันอย่างมาก

โดยเคสที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น สมาชิกในครอบครัวจะได้รับแจ้งเกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างธรรมนูญของครอบครัว วัตถุประสงค์และเนื้อหาในนั้น

ธุรกิจครอบครัว

โดยทั่วไปสมาชิกครอบครัวจะได้รับการขอให้ทบทวนและแสดงความคิดเห็นในเอกสารธรรมนูญครอบครัวก่อนที่จะลงนาม หากจะมีการอภิปรายกันในหมู่สมาชิกในครอบครัว ก็จะทำพอเป็นพิธีและไม่ปรากฏความตึงเครียดหรือความขัดแย้งใดๆ มักจะใช้เวลาไม่มากนัก

 

แต่ในขณะที่ครอบครัวซึ่งสร้างธรรมนูญครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ สมาชิกในครอบครัวนั้นจะมีการพูดคุยอย่างสุภาพแต่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำจริงๆ ในชีวิต

 

รวมถึงเรื่องของสมาชิกรุ่นต่อไปว่าต้องการทำงานในธุรกิจครอบครัวหรือไม่ การถกกันในประเด็นที่อ่อนไหว ทั้งเรื่องของผลประโยชน์ อำนาจในการบริหารบริษัท หรือการบอกถึงทางเลือกและความชอบของตัวเองที่อาจสร้างความเจ็บปวดให้กับคนที่จะได้ยิน

 

(เช่น ลูกชายไม่ต้องการทำงานในบริษัทที่หัวหน้าครอบครัว “สร้างมาเพื่อเขา”) นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแต่ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ก็จะเลือกวิธีที่จะแสดงออกอย่างซื่อสัตย์กับคนอื่น ๆ และสามารถแสดงความไม่เห็นด้วยโดยไม่ให้เกิดไม่พอใจใดๆได้

การพัฒนาธรรมนูญครอบครัวนั้นไม่ใช่การเขียนข้อตกลงที่พยายามอลุ้มอล้วยกันภายในของสมาชิกครอบครัวขึ้นมา แต่มันเป็นเหมือนกฎเหล็กของครอบครัวที่ทุกคนต้องร่วมกันปฎิบัติ โดยมีสภาครอบครัวเป็นผู้บริหารงานภายใต้กรอบของธรรมนูญครอบครัว

 

การมีที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัวที่ดีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในการแนะนำวิธีการ การควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน รวมถึงการช่วยเป็นพี่เลี้ยงของครอบครัวในการนำธรรมนูญครอบครัวที่ได้ทำสัตยาบันแล้วไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของครอบครัว

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564