นี่คือ ความท้าทายอย่างยิ่งของผู้บริหาร ซึ่ง “สมภพ ภิญโญลาภะ” Chairman of Operations บริษัท SDM Smart Digital Management ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ และ “ฤทธิไกร ขัณฑวีระมงคล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.วี.เค อินเตอร์ จำกัด (N.V.K) ผู้ให้บริการอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายชั้นนำ และผู้ให้บริการระบบอัจฉริยะเอไอ รู้ดี และพยายามขับเคี่ยวกับการถูกดิสรัปรอบด้านแบบนี้ จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาด
“สมภพ” เล่าว่า การรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ไม่สิ้นสุด รวมไปถึงการถูกแทรกแซงด้วยวิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย อย่างโควิด-19 สิ่งที่ผู้นำรวมถึงบุคลากรต้องทำคือ การปรับ Mindset ให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วย Speed ที่เท่าทันกับความเคลื่อนไหวใหม่ๆ
ในส่วนของ SDM “สมภพ” เลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาสร้างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการปั้นโมเดลธุรกิจใหม่กลุ่ม “สมาร์ทซิตี้” ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด ที่กำลังปรับตัวไปกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยโฟกัสไปที่บริการบน “แพลตฟอร์มโมบาย” และ “เทคโนโลยีอัจฉริยะ” เป็นสำคัญ
สิ่งที่ผู้บริหารคนนี้ให้ความสำคัญคือ การสร้าง “สินค้านวัตกรรม” ที่ตอบโจทย์ด้วยความเข้าใจในความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในวิถีใหม่ และการเดินหน้าประเทศสู่ “สมาร์ทซิตี้” อย่างแท้จริง ด้วยโปรดักส์ไฮไลท์ อาทิ สมาร์ทมิเตอร์ ที่ช่วยตรวจสอบการใช้น้ำได้แบบเรียลไทม์ สมาร์ทบิลดิ้ง สมาร์ทโฮเทล และต่อไปจะพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ชีวิตแบบอัตโนมัติในอีกหลายมิติ
หากแต่การจะเดินหน้าสู่เป้าหมายของบริษัท “สมภพ” ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้าง “สมาร์ทพีเพิ้ล” โดยเริ่มต้นจากตัวเขาเองในฐานะผู้นำองค์กร ที่พร้อมเปิดรับฟังทุกเสียง ทั้งจากทีมงานและลูกค้า พร้อมใช้หลักจิตวิทยาในการเข้าถึงคน
“การรับฟัง” ด้วย Mindset ที่เปิดกว้างและยอมรับ นอกจากจะทำให้เขาสามารถพัฒนาโปรดักต์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแล้วในแง่ของการบริหารองค์กร ยังทำให้เขาสามารถปรับและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
“สมภพ” เน้นย้ำว่า การนำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาพัฒนาธุรกิจให้เกิดความสำเร็จ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากซีอีโอไม่มีความรู้ความเข้าใจและให้การสนับสนุน จากประสบการณ์ตรงพบว่า แม้พนักงานจะมีความสามารถ แต่หากผู้บริหารระดับสูงไม่เห็นด้วยงานก็จะไม่เกิดและเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้น
สำหรับ “ฤทธิไกร” เอ็มดี N.V.K. เล่าว่า N.V.K. ได้ lean องค์กร เพิ่มความคล่องตัว (Agility) พร้อมทั้ง Re-Skill, Up-Skill พนักงาน โดยไม่ลดจำนวนพนักงานและเงินเดือน หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ยอดรายได้ตกฮวบ จาก 600 ล้านบาทต่อปี เหลือไม่ถึง 200 ล้านบาท
ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ สิ่งที่ “ฤทธิไกร”ให้ความสำคัญคือ การเตรียม Survival Plan ทำอย่างไรให้บริษัท “รอด” ควบคู่กับการพัฒนาองค์กร ทำระบบในองค์กรให้เป็นออโต้เมชั่น 100% เพื่อความคล่องตัว ลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ ลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นลง ลดการทำงานแบบ Top Down เปิดโอกาสให้พนักงานตัดสินใจเองได้มากขึ้น นำระบบ OKR (objective key result) เข้ามาใช้ เพื่อให้พนักงานมีการตั้งเป้าหมายและวัดผลความสำเร็จ สร้าง passion และความรับผิดชอบ
นั่นเป็นหนึ่งในวิธีการสร้าง Smart People ที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็น Talent ขององค์กร ซึ่งจะได้รับการเติมเต็มความรู้ไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันพนักงานหลายคนของ N.V.K. กลายเป็นเอ็นจิเนียร์ที่มีฝีมือระดับท็อปของประเทศ
นอกจากนี้ “ฤทธิไกร” ยังสร้างโมเดล sense of ownership ให้พนักงานที่เป็นกำลังสำคัญขององค์กรได้ถือหุ้นในบริษัท เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเขาคือหนึ่งในเจ้าของบริษัท
ขณะเดียวกัน N.V.K. ยังมีการลงทุนใหม่ๆ เช่น การพัฒนา Smart Wifi, Access Point (AP), แพลตฟอร์มเอไอ ระบบ Smart Workplace รวมถึงระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) ระบบ Touchless หลีกเลี่ยงการสัมผัสมากขึ้น รวมถึงการรับเพิ่มพนักงานบางส่วนที่จำเป็น
“ฤทธิไกร” ยอมรับว่า วิกฤติโควิด -19 ถือเป็นบทเรียนสำคัญของบริษัท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในองค์กร ต้องปรับรูปแบบการทำงาน รวมถึงปรับบิซิเนสโมเดล สร้างฐานธุรกิจที่กระจายความเสี่ยง และมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างองค์กรที่อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564