พัทยามูฟออน ทางรอดท่องเที่ยว‘ซันไชน์’ปรับกลยุทธ์ฝ่าโควิด

09 ก.ค. 2564 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2564 | 21:30 น.

"พัทยามูฟออน" เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องเปิดประเทศ ที่ผู้ประกอบการมองว่าเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ธุรกิจจะไปต่อได้ เพราะรายได้หลักพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง80% ทั้งธุรกิจโรงแรมในพัทยาต้องปรับกลยุทธและเรียนรู้อะไรบ้างเพื่อฝ่าโควิดที่เกิดขึ้น

เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้วที่ธุรกิจท่องเที่ยวของพัทยา ซึ่งมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ต้องหายฮวบไป ล่าสุดพัทยาเป็น 1 ใน 10 บริษัทนำร่องที่รัฐบาลจะเปิดรับนักท่องเที่ยว  จึงเป็นทางออกเดียวที่จะธุรกิจจะไปต่อได้ 

 

ทั้งธุรกิจโรงแรมในพัทยาต้องปรับกลยุทธและเรียนรู้อะไรบ้างเพื่อฝ่าโควิดที่เกิดขึ้น อ่านได้จากสัมภาษณ์พิเศษ นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี กรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทในเครือซันไชน์และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี

 

นำร่อง 2 อำเภอรับต่างชาติ

 

วันนี้เราภาวนาให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ภายใต้นโยบาย “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่เริ่มไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 ประสบความสำเร็จ

ธเนศ ศุภรสหัสรังสี

เพราะนั่นหมายถึงพัทยา จ.ชลบุรี ก็จะเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่อยู่ในสเต็ปต่อไปของการเปิดรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน ภายใต้แผน “Pattaya Moves On” หรือ พัทยา มูฟ ออน  เพื่อให้พัทยาพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศเสี่ยงต่ำและเสี่ยงปานกลางในแบบSealed Routes

 

โดยมีเป้าหมายในวันที่ 1 ก.ย.นี้นำร่องใน 2 อำเภอ คือ อ.บางละมุงและอ.สัตหีบ การจะดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ประชาชนในพื้นที่2อำเภอนี้ต้องได้รับการจัดสรรวัคซีน 9 แสนโด้ส เพื่อฉีดให้คนจำนวน 4.5 แสนคน จากปัจจุบันที่ได้รับวัคซีนแล้วราว 5-6 หมื่นโด๊ส

 

รวมถึงการวางมาตรฐานการบริการ (SOP) ได้แก่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางจากสนามบินโดยรถยนต์ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ต้องเข้าพักในโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA+เท่านั้น

 

นักท่องเที่ยวสามารถพักและพักผ่อนในพื้นที่โรงแรมครบอย่างน้อย 3 วัน เพื่อตรวจหาเชื้อRT-PCR หากผลตรวจเชื้อเป็นลบและมีผลตรวจภูมิร่างกายเป็น Positive วันที่ 4 เป็นต้นไปสามารถเที่ยวในพื้นที่ได้

 

ถ้าพักต่ำกว่า 14 วันจะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรทันทีที่ครบกำหนด แต่หากพักครบ 14 วันจะสามารถเดินทางต่อไปเที่ยวที่ไหนในไทยก็ได้

 

“การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของพัทยาอยู่รอดได้ เพราะรายได้ของพัทยากว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีวันพักที่นาน มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 4-5 พันบาทต่อวัน เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ราว 40%

 

ทั้งด้วยผลกระทบจากโควิด 19 ที่ยาวนานมา1ปีกว่าแล้ว ก็จะเห็นว่าบางสถานประกอบการจากที่ปิดชั่วคราวก็เริ่มจะปิดกิจการถาวรกันบ้างแล้ว โรงแรมที่พอเปิดได้อยู่ก็เปิดให้บางส่วนหรือบางตึกไม่สามารถเปิดได้ทั้งหมด”

 

โควิดระลอก 3 หนักสุด

 

โรงแรมผู้ประกอบการในพัทยาก็ทำมาทุกวิถีทางแล้ว อย่างเครือซันไชน์ของผมมีโรงแรมในพัทยา 7 แห่ง โควิดระลอกแรกในปีที่ผ่านมาเราปิดโรงแรมทุกแห่ง พอเดือนก.ค.ปีที่แล้วมีการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด เราก็กลับมาเปิดโรงแรม 3 แห่ง คือที่ โรงแรมซันไชน์ การ์เด้นท์ พัทยา, เดอะกรีน พาร์ค รีสอร์ท และราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา

โดยเข้าร่วมเป็นโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก ALQ (Alternative Local Quarantine) รองรับการกักตัวของคนไทยและต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ที่ราว 66 ห้อง

 

การเปิดโรงแรมเราขาดทุนทุกเดือน แต่เปิดให้พนักงานได้มีงานทำ เพราะรายได้ที่เข้ามาวันหนึ่งก็เหลือไม่เท่าไหร่  อย่างโรงแรม 3 ดาว ขาย 14 คืนวันที่ 3 หมื่นบาท ต้องจ่ายให้โรงพยาบาลที่มาเป็นคู่สัญญา 1.3-1.4 หมื่นบาท ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมด โรงแรมต้องรับผิดชอบอาหาร 3 มื้อค่าจ้างพนักงาน แต่ก็ต้องทำ เพื่อประคองตัวให้โรงแรมยังพออยู่ไปได้

 

พอเกิดโควิดระลอก 2 เราก็เริ่มนำจุดขาย ปาท่องโก๋ ซึ่งเป็นที่ขื้นชื่อของราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา มาขาย ซึ่งขายห้องอยู่หน้าโรงแรมซันไชส์ การ์เด้นท์ พัทยา พัทยาเหนือ ขายได้ 4-5 หมื่นบาทต่อวัน

 

อีกส่วนก็ขายแบบออนไลน์ ที่กว่าจะขายได้ก็ไม่ง่าย ตอนแรกก็ลองส่งส่วนผสมไปให้เพื่อสนิทเจ้าของร้านอาหารสีฟ้าส่งไปเขา และก็ได้คำแนะนำว่าถ้าจะขายแล้วให้คนทั่วไปไปทอดเองคงไม่มีใครทำ

 

ขณะเดียวกันเขาบอกไอเดียว่าเราต้องทอดให้สุกสัก 70% บรรจุในพาสติกสุญญากาศ คนซื้อไปนำไปใส่หม้ออบลมร้อน สะดวกในการทาน ก็ลองผิดลองถูกจนได้ ก็ขายได้ดี เพราะมันเป็นกระแสในช่วงแรก แต่จากนั้นยอดขายโดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ราว 1 หมื่นบาทต่อวัน

 

แต่มันก็เทียบไม่ได้ เพราะปกติเรามีรายได้ อย่างราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา  เดือนละ 10-20 ล้านบาท ขายปาท่องโก๋ เคยขายได้ดีที่สุดก็อยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น

 

เมื่อดูแล้วจะเห็นว่าเราไม่มีทางรักษาพนักงานทั้ง 500 คนใน 7 โรงแรมได้ครบทุกคนจากรายได้ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็อยู่กับเรามาเป็น 10 ปีที่ผ่านมามีทั้งให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน จนท้ายสุดพนักงานก็มาขอให้เราเลิกจ้าง

 

เราก็จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน เขาก็กลับไปต่างจังหวัด ทำเกษตรที่บ้านเกิดบ้าง จนพนักงานปัจจุบันอยู่ที่ราว 50% และเราก็ได้ซอฟท์โลนเข้ามาจำนวนหนึ่งเข้ามาช่วยได้บ้าง

 

แต่พอมาเจอโควิดระลอก3 ถือว่าหนักที่สุด ซึ่งเราก็ต้องประคองตัวอยู่ให้ เพราะโควิด-19 จะต้องอยู่บนโลกนี้ไปอีกนาน เรารู้ว่าดีการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเป็นแบบทยอยเข้ามา

พัทยามูฟออน

ถ้าพัทยา มูฟออน ดำเนินการได้ เราก็มองว่าช่วงQ4ปีนี้น่าจะกลับมา 20-30% จากนั้นก็จะขยับขึ้น แต่กว่าจะกลับเข้าสู่ปกติคือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับ 10 ล้านคนเหมือนก่อนเกิดโควิดคาดว่าจะอีก 3-4 ปี

 

เพราะปัจจัยไม่ใช่แค่เรื่องการระบาดในไทย แต่ในต่างประเทศเองก็มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น บางประเทศอย่างฮ่องกง คนเดินทางออกไปกลับเข้ามาก็ต้องกักตัว 21 วัน

 

ตลาดหลักด้านการท่องเที่ยวของไทยไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดีย ก็ยังไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวนอกประเทศได้อีกพักใหญ่ จากการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังคงเข้มข้นอยู่

 

ชลอลงทุนโรงแรมใหม่

 

ดังนั้นกลยุทธของผมใช้อยู่ คือ การระมัดระวัง อุดช่องโหว่ค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยที่คุณภาพการให้บริการไม่ตก การดึงกลุ่มคนไทยเข้ามามากขึ้น จากเดิมที่ของเราจะเป็นตลาดเยอรมันและยุโรปเป็นหลัก ที่มาพักโรงแรมในระดับ 3 ดาวของซันไชน์

 

แต่เมื่อเราสร้างโรงแรมราวินทรา ก็ได้ตลาดกำลังซื้ออีกระดับขึ้น ซึ่งหลังโควิด ทำให้เรามีตลาดคนไทยเข้ามา เนื่องจากโรงแรมราวินทรา ติดหาด คนไทยก็จะชอบมาเที่ยว

เราต้องเรียนรู้จากโควิดว่าอนาคตไม่แน่นอน การระบาดระลอกใหม่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งเราเหลือหนี้อยู่ไม่มาก ชำระเกือบหมดแล้ว ก็กำลังศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการนำโรงแรมเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้

 

เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนเสริมสภาพคล่องฝ่าโควิด รวมถึงการชลอการลงทุนโรงแรมใหม่ ที่จะเป็นแห่งที่ 8 ในพัทยา โดยขอรอดูสถานการณ์อีก 1-2 ปี 

 

การลงทุนใหม่เราก็มองว่าเป็นโอกาส เพราะด้วยโลเคชั่นที่อยู่นาจอมเทียน ซึ่งเป็นทางลงมอเตอร์สายใหม่ที่จะสร้างขึ้น รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้เราอยู่ใกล้อู่ตะเภามาก

 

ทำให้จึงมีแผนสร้างโรงแรมขนาด 400 ห้องลงทุนราว 2-3 พันล้านบาท ซึ่งคงต้องรอให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฟื้น จึงจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564