ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะขาดทุนยาวนานถึง 16 เดือนแล้ว ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกแรก ต่อเนื่องระลอก3 เมื่อเม.ย.64 ซึ่งถึงวันนี้ยังควบคุมไม่ได้
รัฐบาลประกาศปิดภัตตาคาร ห้องประชุม และให้หลีกเลี่ยงการเดินทางอีกครั้ง โรงแรมในพื้นที่สีแดงและแดงเข้มไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว
โรงแรมกำลังฝ่าวิกฤตหนักสุดอีกครั้งจนถึงสิ้นปี64 และยังคงต้องแบกภาระหนี้ที่เกิดจากวิกฤตโควิดอีกอย่างน้อย 2 ปี กว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว
สอดคล้องกับการประเมินล่าสุดขององค์การการท่องเที่ยวโลก(UNWTO)ที่คาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของโลก จะยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2566
ล่าสุดไทยแม้จะเริ่มนำร่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งก็ทำให้โรงแรมในภาคใต้มองการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหลังไตรมาส4ปีนี้ แต่ในภาพรวมของธุรกิจของโรงแรมทั่วประเทศก็ยังคงอยู่ในสภาวะย่ำแย่
จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมในเดือนมิ.ย.64 โดยสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) พบว่าโรงแรมกว่า 41%ที่ยังคงเปิดกิจการอยู่ปกติ และเปิดบางส่วน กว่าครึ่งหนึ่งของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมดยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง10%เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้กับช่วงปกติก่อนเกิดโควิด
ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมในไทยในเดือนมิ.ย.64 แม้จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพ.ย.64 จาก6% เป็น10% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง
ส่วนการคาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศในเดือนก.ค.นี้ ก็น่าจะทรงตัวอยู่ที่12% ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ที่มองว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งจากโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
อีกทั้งกว่า58%ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน ค่อนข้างสูงที่ 26% กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค และเป็นกลุ่มที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มอื่น
การเปิดประเทศก็อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่งในพื้นที่นำร่อง แต่หากโควิด-19 ระลอกนี้ยังไม่สามารถคุมได้และยังมียอดการติดเชื้อสูงเช่นนี้ การเปิดประเทศก็ยังไม่อาจคาดหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากนัก โดยเฉพาะตลาดระยะใกล้
โดยเฉพาะจีน ที่เป็นตลาดหลักที่จะยังไม่สามารถขยับเข้าไทยได้ หรือแม้แต่การเจรจาจับคู่ด้านการท่องเที่ยวหรือ ทราเวล บับเบิ้ล กับประเทศต่าง อาทิ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ตอนนี้ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันจากยอดการติดเชื้อในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ไทยเที่ยวไทย ก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน
หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ธุรกิจที่มีสายป่านยาวเท่านั้นที่จะยังคงอยู่รอดเพื่อรอการท่องเที่ยวฟื้น แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีสายป่านจำกัด และต้องแบกรับการขาดทุนมาร่วมปีกว่าแล้ว ถ้ายังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ตรงจุด ก็คงยากยืนต่อได้
เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ แต่ก็พบว่ามีอุปสรรคด้านอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ได้รับไม่เพียงพอ และสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกหนี้ใหม่ ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ผู้ประกอบการ มองว่าสถาบันการเงินสร้างเงื่อนไข หรือกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติม ทำให้เข้าถึงมาตรการได้ยากขึ้น
สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการจริงๆคือมาตรการพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราวช่วง 1-2 ปีของการฟื้นตัวของธุรกิจเป็นอันดับแรก
รองลงมา คือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยใช้การค้ำประกันระหว่างบุคคล หรือนิติบุคคลค้ำประกันแทนทรัพย์สิน และยกเว้นการพิจารณาเงื่อนไขตามระเบียบการกู้เงินของสถาบันการเงินปกติ ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท
รวมถึงการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment)โดยขอให้ภาครัฐช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานในสัดส่วนร้อยละ 50 ค่าจ้างพนักงานไม่เกิน 7,500 บาท (เพดานสูงสุดของประกันสังคม เท่ากับ 15,000 บาท) ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน เริ่มจากเดือนส.ค.นี้ เป็นต้นไป การจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า8 ฉบับที่3,695 วันที่ 11-14 กรกฏาคม 2564