นายกิตติพงษ์ กิตติขจร รองผู้ว่าอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากมาตรการล็อกดาวน์และการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นชัดเจนว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี จากจำนวนการเดินทางสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศที่ลดลงอย่างมาก
ส่งผลให้สายการบินต่างๆต้องยกเลิกและลดปริมาณเที่ยวบินในช่วงนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐบาลออกมาตรการดังกล่าวการเดินทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ยังไม่ได้รับผลกระทบ และบางวันก็เพิ่มขึ้นบ้าง
อย่างในวันที่ 1 ก.ค.64 สนามบินสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ 176 เที่ยวบินต่อวันมีผู้โดยสาร 3,046 คนต่อวัน และในวันที่ 14 ก.ค.มีเที่ยวบิน 195 เที่ยวบินต่อวัน ผู้โดยสาร 3,165 คนต่อวัน แต่ที่มีการลดลงอย่างมากจะเป็นการเดินทางภายในประเทศ ที่ลดลงไปกว่า 70%
โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทุก จากวันที่ 1 ก.ค.มีเที่ยวบินในประเทศ 97 เที่ยวบินต่อวัน จำนวนผู้โดยสาร 6,544 คนต่อวัน แต่ในวันที่14 ก.ค.มีเที่ยวบินในประเทศเหลืออยู่ 25 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารเหลือ 1,900 คน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการเดินทางเข้า- ออก ท่าอากาศยานดอนเมือง หลังจากรัฐบาลออกมาตรการจำกัดการเดินทาง 14 วัน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ช่วงเดือน ก.ค.นี้
ส่งผลให้สายการบินขอปรับลดเที่ยวบินและยกเลิกเที่ยวบินลง เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อยมาก โดยสายการบิน ไทยแอร์เอเชียประกาศหยุดบินไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้
ขณะที่สายการบินที่ยังเปิดให้บริการอยู่ก็ขอปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินของสนามบินดอนเมืองจากเดิม 100 เที่ยวบินต่อวัน วันนี้เหลืออยู่ที่ 35 เที่ยวบินต่อวัน จำนวนผู้โดยสารจาก8-9 พันคนต่อวัน เหลืออยู่ราว 2 พันคน ซึ่งลดลงไปกว่า60%
โดยผู้โดยสารหากได้รับผลกระทบจากการเลื่อนหรือยกเลิกเที่ยวบินก็สามารถตรวจสอบกับสายการบินต่างๆเพื่อใช้สิทธิการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ตามกฏหมายที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)กำหนด เช่น ถ้ายกเลิกโดยแจ้งก่อน 3 วัน สายการบินต้องชดเชยเงินให้ผู้โดยสาร1,200 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนการใช้บริการสนามบินที่ลดลง ทำให้สนามบินดอนเมือง จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงรันเวย์ 1 เส้น ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประมูลในเดือนก.ค.นี้ มูลค่าโครงการราว 300 ล้านบาท โดยเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ และจะไม่กระทบต่อการบริการ เพราะยังมีอีก 1 ทางวิ่งที่เพียงพอสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการในการใช้บริการสนามบินลดลง
สำหรับการเยียวยาสายการบิน ทางคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.)ก็ได้ขยายเวลาการช่วยเหลือสายการบินต่างๆของไทยโดยได้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของสายการบินที่ปกติต้องชำระค่าธรรมเนียมการบินเข้าหรือออกประเทศ และขยายมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่ให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศสำหรับไตรมาสที่3ปีนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากบร.มีมติลดค่าใช้จ่ายให้สายการบิน อาทิ ให้ทอท.ปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวม
ทั้งยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 (1 ก.ค.– 30 ก.ย.นี้) รวมถึงให้กพท.ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) กับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3 เป็นต้น