กบร.เคาะมาตรการช่วยสายการบิน-ลดค่าขึ้นลงสนามบิน 3 เดือน

09 ก.ค. 2564 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 15:24 น.

กบร. ไฟเขียวมติขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบิน หลังโควิด-19 ระบาดหนัก จ่อลดค่าขึ้น-ลงสนามบิน 50% ราว 3 เดือน สั่ง CAAT เร่งแผนเปิดประเทศ เตรียมความพร้อมรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศในอนาคต

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ร่วมกับกรรมการในที่ประชุม กบร. ครั้งที่ 7/2564 เปิดเผยว่า ที่ประชุม มีมติขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สำหรับไตรมาสที่ 3/2564 ประกอบด้วยมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของสายการบินที่ปกติต้องชำระค่าธรรมเนียมการบินเข้าหรือออกประเทศ และขยายมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่ให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศ

 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการการพัฒนางานด้านการบริหารข่าวสารการบินของประเทศไทยไปสู่ระบบมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เป็นศูนย์กลางทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานการบินของประเทศเพื่อเร่งพัฒนาระบบการเดินอากาศของไทยเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตของโลกการบินล้ำสมัยในอนาคต นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งประเทศรวมถึงอุตสาหกรรมการบินของไทยโดยเฉพาะสายการบินที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้น กบร. จึงได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ร่วมกันจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบิน

 

 

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะ และมาตรการได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยในระหว่างนั้น ผู้ประกอบการสายการบิน 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินไทยไลออนแอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจสายการบิน โดยขอขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงมาตรการดังกล่าว

ที่ประชุม กบร. ได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการช่วยเหลือสายการบินอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีมติ ที่ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 โดยให้มีกรอบเวลาของมาตรการสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่ให้ประกาศใช้มาตรการเป็นรายไตรมาสพร้อมทั้งประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ในการประชุมครั้งนี้ กบร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายมาตรการดำเนินการ ดังนี้ 1. มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลงอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 (1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564) ส่วนของมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะเริ่มดำเนินการเมื่อ ทย. ได้รับเงินชดเชยเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานจากรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ทย. จะดำเนินการคืนเงินค่าบริการส่วนต่างที่ได้เรียกเก็บมาแล้วให้สายการบินเมื่อได้รับเงินชดเชยต่อไป

 

 

2. มาตรการทางการเงิน ให้ CAAT ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) กับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3 ในส่วนของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือลงแล้วเนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเงินของ บวท. เองในขณะนี้

 

 

 อย่างไรก็ตาม หาก บวท. สามารถขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมได้ ให้ บวท. พิจารณานำเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของสายการบินต่อที่ประชุม กบร. อีกครั้งหนึ่ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ให้ CAAT จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยให้ศึกษาแนวทางดำเนินการของต่างประเทศประกอบด้วย

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติอื่น ๆ ได้แก่ 1. เห็นชอบให้บริษัทไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์ จำกัด ได้รับการยกเว้นการเริ่มประกอบกิจการโดยการทำการบินจริง (Actual Flight Operation) ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

 

2. เห็นชอบการกำหนดกระบวนการขั้นตอนและระยะเวลาในการออกใบอนุญาต หนังสืออนุญาต และการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ ซึ่งต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการการบินพลเรือนพิจารณา ตามที่ CAAT เสนอเพิ่มเติมและขอปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปประกาศใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและผู้ประกอบการในการรับทราบขั้นตอนและกรอบระยะเวลาดำเนินการต่าง ๆ ต่อไป รวมถึงให้จัดทำกระบวนงานสำหรับการอุทธรณ์ ในกรณีที่ประชาชนหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินต้องการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยผู้อำนวยการ CAAT เพิ่มเติมด้วย

 

 

ทั้งนี้ได้มีข้อสั่งการให้ CAAT ต่อยอดตามแผนการเปิดประเทศ เร่งสะสางงานที่คงค้าง และเตรียมความพร้อมเพื่อให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศมีความพร้อมรับการบินกลับมาเป็นปกติในช่วง 2 – 4 ปีข้างหน้า โดยให้ กพท. ดำเนินการ ดังนี้ 1. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายผลการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีก 9 แห่ง ตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ หลังจากการเปิด Phuket Sandbox ประสบความสำเร็จ

 

 2. เร่งรัดทำแผนการจัดระเบียบการดำเนินงานใหม่ (Set Zero) สำหรับภารกิจที่ต้องเร่งจัดการ เช่น การรับรองสนามบินสาธารณะและการออกใบอนุญาตสนามบินส่วนบุคคล รวมถึงการออกใบอนุญาต โดรน ทั้งประเภทที่ต้องขอขึ้นทะเบียนกับ CAAT และประเภทที่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (โดรนที่มีน้ำหนักเกินกว่า 25 กิโลกรัม) เพื่อลดการบินโดรนที่ผิดกฎหมาย และเพื่อให้กิจการการบินในทุกมิติสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3. เสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบิน ทุกภาคส่วนสามารถเตรียมพร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจเมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาเป็นปกติได้ทัน ตามข้อมูลการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่คาดว่าอย่างเร็วจะเริ่มขึ้นในปี 2566 หรือปี 2568 เป็นอย่างช้า