ธุรกิจการบิน ตกตํ่าถึงขีดสุด ‘ล็อกดาวน์’ รอบใหม่ สภาพคล่องวิกฤติ

27 ก.ค. 2564 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2564 | 15:18 น.

กว่า 17 เดือนแล้วที่ธุรกิจการบินของไทยต้องเผชิญกับภาวะการขาดทุนถ้วนหน้าจากผลกระทบโควิด-19 ทั้งการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 จนถึงขณะนี้ นับว่าหนักที่สุด ส่งให้ธุรกิจการบินตกต่ำถึงขีดสุดแล้วในขณะนี้

นับเป็นเวลากว่า 17 เดือนแล้วที่ธุรกิจการบินของประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะการขาดทุนถ้วนหน้าจากผลกระทบโควิด-19 แต่ที่ผ่านมาสายการบินก็พอจะมีกระแสเงินสดเข้ามาบ้าง  เพราะอย่างน้อยก็ยังเปิดบินในประเทศได้บ้าง แต่จากการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 จนถึงขณะนี้ นับว่าหนักที่สุด ส่งให้ธุรกิจการบินตกต่ำถึงขีดสุดแล้วในขณะนี้

 

สะท้อนได้ชัดเจนจากปริมาณผู้โดยสารใน 6 สนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จะพบว่าในปีนี้ผู้โดยสารเริ่มกลับมาติดลบในเดือนมิ.ย. หลังการติดเชื้อภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และทะลุหมื่นคนในปัจจุบัน

 

ผู้โดยสารติดลบ 80%

โดยในเดือนก.ค. ซึ่งในช่วงวันที่1-15 ก.ค.64 ผู้โดยสารลดลงเฉลี่ยเหลือวันละ 1 หมื่นคน ติดลบ 80% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยก็มีปัญหาจากโควิดระลอกแรก

 

ธุรกิจการบิน ตกตํ่าถึงขีดสุด ‘ล็อกดาวน์’ รอบใหม่ สภาพคล่องวิกฤติ

ทั้งล่าสุดเมื่อรัฐบาลยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ระลอกใหม่ โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทาง  ส่งผลให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือกพท. ได้ออกคำสั่งให้สายการบินระงับทำการบินเที่ยวบินในประเทศที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารชั่วคราวในทุกเส้นทางบินเข้า-ออกในพื้นที่สีแดงเข้ม มีผลตั้งแต่ 21 ก.ค.64 ก็ส่งผลให้สายการบินเกือบทั้งหมดต้องหยุดทำการบินไปโดยปริยาย

 

ส่งผลให้เครื่องบินที่ทำการบินอยู่ทั้งหมดเฉพาะ 7 สายการบิน (ไม่รวมการบินไทย) ทั้งไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยเวียตเจ็ท ไทยสมายล์ นกแอร์ รวมกว่า 170 ต้องจอดนิ่งสนิท

 

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ของรัฐบาล ที่รัฐบาลออกมาตรการห้ามสายการบินทำการบินในประเทศ เราก็เข้าใจว่าเป็นการพยายามลดการแพร่ระบาดในประเทศประเทศที่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้หันมามองการเยียวยาสายการบินด้วย

ธุรกิจการบิน ตกตํ่าถึงขีดสุด ‘ล็อกดาวน์’ รอบใหม่ สภาพคล่องวิกฤติ

เนื่องจากธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบมานานร่วม 2 ปีแล้ว สภาพคล่องก็อยู่ในภาวะวิกฤต และการหยุดบินก็ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา สถานการณ์ขณะนี้ธุรกิจการบินมืดมน ตกต่ำถึงขีดสุด กว่าการจะกลับมาเดินทางอีกครั้งต้องใช้เวลา จึงอยากขอให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยาธุรกิจสายการบินโดยด่วน

 

สั่งห้ามบินรายได้เป็นศูนย์

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ระบุว่าโควิดส่งผลให้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าทุกวิกฤตที่ผ่านมาในรอบ 10 ปี ซึ่งในปี 63 มีผู้โดยสารลดลงจาก 62 ถึง 64.7% โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศลดลง 81.7% เที่ยวบินในประเทศลดลง 33.8%

 

ที่ผ่านมาสายการบินก็ช่วยตัวเองมาแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มช่องทางหารายได้ การบริหารฝูงบิน การลดเงินเดือนพนักงานเพื่อพยุงการจ้างงานไว้อยู่

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

แต่จากคำสั่งห้ามบินในประเทศล่าสุด หมายถึงสายการบินต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่าเดิม โดยมีรายได้เป็นศูนย์ ซึ่งก็หนักมาก เพราะที่ผ่านมาทุกสายการบินก็ขาดทุนต่อเนื่องอยู่แล้ว จากการที่ไม่สามารถทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศได้เหมือนเดิม รวมทั้งการสั่งให้หยุดบินก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้สายการบินทุกสายเริ่มแบกรับต้นทุนกันไม่ไหวแล้ว

 

นี่เองจึงทำให้สายการบินทั้ง 7 สายนำโดยสมาคมสายการบินประเทศไทย ออกมาทวงถามการขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากรัฐบาล ที่ได้เรียกร้องมากว่า 478 วันแล้ว และก็เคยมีการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนไปแล้วด้วย

 

โดยครั้งแรกที่ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้าน ครั้งที่ 2 ลดลงเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท และล่าสุด ขอวงเงินซอฟท์โลนอยู่ที่ 5 พันล้านบาท เพื่อนำมาใช้พยุงการจ้างงานของพนักงานใน 7 สายการบินที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นคนเป็นเวลา1ปี

 

ถ้าไม่ได้ซอฟต์โลนก้อนนี้โดยเร็ว แน่นอนว่าแต่ละสายการบินก็คงมีแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างกัน แต่ก็หนีไม่พ้นการปรับโครงสร้างองค์กรเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้กับการดาวน์ไซส์องค์กรลดการจ้างงานลงสำหรับสายการบินที่ยังพอมีสายป่านอยู่

ธุรกิจการบิน ตกตํ่าถึงขีดสุด ‘ล็อกดาวน์’ รอบใหม่ สภาพคล่องวิกฤติ

หรือการต้องไปหาแหล่งเงินกู้เข้ามาเองของแต่ละสาย  แต่ถ้าสายไหนไปไม่ไหว ก็คงต้องเป็นอีกสายการบินที่ต้องปิดกิจการไป

 

การบินไทยรื้อแผนบินตปท.

ไม่เพียงแต่ 7 สายการบินนี้เท่านั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ อย่าง การบินไทย และทอท.ด้วยเช่นกัน

 

เพราะตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยเตรียมจะกลับมาบินในช่วงไตรมาส3 นี้ราว 46 เส้นทางบินจากยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่จากการแพร่ระบาดอย่างหนักในไทยและอีกในหลายประเทศ ก็ทำให้การบินไทยเตรียมจะกลับมาบินได้เพียง 15 เส้นทางเท่านั้น 

                                                                                

ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-มะนิลา 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-ฮ่องกง 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์,กรุงเทพฯ-โตเกียว(นาริตะ) 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-โตเกียว(ฮาเนดะ) 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-โอซากา 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์,กรุงเทพฯ-นาโกยา 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-โซล (อินชอน) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพฯ-ซิดนีย์  2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ธุรกิจการบิน ตกตํ่าถึงขีดสุด ‘ล็อกดาวน์’ รอบใหม่ สภาพคล่องวิกฤติ

เส้นทางกรุงเทพฯ-ลอนดอน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ลอนดอน (อังกฤษ) 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-ปารีส-ภูเก็ต (ฝรั่งเศส) 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์,กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต (เยอรมนี) 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-ซูริก-ภูเก็ต (สวิสเซอร์แลนด์) 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

 

ควบคู่ไปกับการหาแหล่งเงินใหม่อีก 5 หมื่นล้านเข้ามาดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีนี้  ที่อยู่ระหว่างดำเนินการหลังจากการบินไทยเตรียมปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ

 

ขณะที่ทอท.เองก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่าง เพราะการลดลงของผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง ฉุดให้กระแสเงินสดตอนนี้เหลือ 2.1 หมื่นล้านบาท ลดจากช่วงก่อนเกิดโควิดที่มีกระแสเงินสดเกือบ 8 หมื่นล้านบาท 

 

ทำให้ทอท.ก็อยู่ระหว่างจัดทำแผนกู้เงินในเดือนต.ค.นี้ จากวงเงินที่บอร์ดทอท.ได้อนุมัติการจัดหาเงินกู้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากทอท.ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการลงทุนตามแผน จึงคาดว่า ในเดือนก.ค.65 เป็นต้นไป บริษัทจะประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องเช่นกัน

 

วิกฤติรอบนี้หนักหน่วง ทางออกเดียวที่จะคลี่คลายอยู่ที่การเร่งฉีดวัคซีน และการลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ลดลง ไม่เช่นนั้นธุรกิจที่มีสายป่านยาวเท่านั้นที่จะอยู่รอด

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564