‘การบินไทย’ ปิดดีลฟ้องเรียกค่าเสียหาย‘โรลส์-รอยซ์’ได้ลดหนี้3พันล้านบาท

13 ก.ค. 2564 | 03:32 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 12:18 น.

"การบินไทย"ปิดดีลฟ้องเรียกค่าเสียหายโรลส์-รอยซ์ เครื่องยนต์ Trent 1000 และ Trent 900 ขัดข้อง หลังเจรจาโรลส์-รอยซ์ รับยอดหนี้-ตกลงออกใบลดหนี้ 3,181 ล้านบาทตามที่ผู้ผลิตเครื่องยนต์เสนอระงับข้อพิพาท เพื่อใช้หักกลบลบหนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ในฝูงบิน

ปัจจุบันการบินไทยและบริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเครื่องยนต์รุ่น Trent 900 และรุ่น Trent 1000 ชำรุดบกพร่อง

 

ทำให้แผนทำการบินของการบินไทยโดยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดังกล่าว ระส่ำหนักต้องหยุดซ่อมบำรุง เมื่อช่วงกลางปี 60-61 ซึ่งเป็นที่มาทำให้การบินไทยเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลที่ประเทศอังกฤษ

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีพิพาทดังกล่าวทางผู้ทำแผนฟื้นฟูเล็งเห็นว่าด้วยคดีที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าศาลในประเทศอังกฤษจะเห็นพ้องด้วยกับค่าเสียหายที่การบินไทยเรียกร้องหรือไม่ ทั้งกระบวนการดังกล่าวยังต้องใช้เวลายาวนานและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหากว่าท้ายสุดศาลจะตัดสินให้การบินไทยชนะคดี แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้โรลส์-รอยซ์ชดใช้ค่าเสียหายต่ำกว่าจำนวนที่การบินไทยเรียกร้อง หรือต่ำกว่า 98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งเป็นจำนวนที่ทางโรลส์-รอยซ์เสนอเพื่อระงับข้อพิพาท)

 

อีกทั้งถ้ายังไม่ได้ข้อยุติ การบินไทยยังมีภาระต้องหาเงินสดมาชำระค่าซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จำนวน 1,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3.31 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่การบินไทยยังคงมีเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์อยู่

 

ทั้งหากการบินไทยไม่สามารถชำระค่าซ่อมบำรุงดังกล่าวได้ การบินไทยจะไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ และไม่สามารถหาผู้ให้บริการซ่อมบำรุงรายอื่นมาทดแทนได้

 

ดังนั้นผู้ทำแผนจึงได้เจรจาให้โรลส์-รอยซ์ ยอมรับยอดหนี้ที่มีต่อการบินไทยและตกลงออกใบลดหนี้ (Credit Note) ให้แก่การบินไทย เพื่อชำระค่าซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ และขอปรับลดอัตราค่าบริการต่างๆ

 

โดยโรลส์-รอยซ์ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้การบินไทยก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวน 98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,181ล้านบาท) ในรูปแบบของใบลดหนี้ ซึ่งโรลส์-รอยซ์ตกลงลดจำนวนหนี้ค้างชำระ โดยตกลงว่าหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยค้างชำระ ประกอบไปด้วย

  • หนี้ค่าบริการรายเดือนและตามการซ่อมบำรุงตามสัญญาที่ค้างชำระเป็นจำนวนเงิน 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการหักกลบลบหนี้กับยอดเงินในใบลดหนี้
  • ส่วนหนี้อันเกิดจากการปรับกระทบยอด (Reconciliation) อันเป็นค่าใช้จ่ายที่การบินไทยต้องจ่ายชำระจากการใช้งานที่แท้จริงของเครื่องยนต์ Trent  700 ระหว่างปี 60-63 ซึ่งเป็นหนี้ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • หนี้ค่าซ่อมบำรุงสำหรับเครื่องยนต์และพัสดุเครื่องยนต์ที่อยู่นอกเหนือจากบริการตามสัญญาซื้อบริการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่ายตามชั่วโมงการใช้งานจริง (Total Care) ของเครื่องยนต์รุ่น Trent 700,Trent 800,Trent900, Trent900,Trent 1000 และTrent (Additional Service) เป็นจำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐยอดหนี้ก้อนดังกล่าว

 

โดยจะได้รับชำระเป็นรายงวดจำนวน 4 งวด ในช่วงปี 67-69 ส่วนยอดเงินในใบลดหนี้ส่วนที่เหลือ 62.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การบินไทยมีสิทธินำไปใช้เพื่อชำระค่าบริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ที่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.63 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ