ส.อุตฯเครื่องดื่มไทยขอให้ทบทวนภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ออกคำแถลงเกี่ยวกับข้อเสนอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้ลงมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ” เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา นั้น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยในฐานะองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มอัดลม และในฐานะสื่อกลางระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ มีความเห็นสอดคล้องกับประชาคมสาธารณสุขและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ตลอดจนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-Communicable Diseases) เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งต้องได้รับการดูแลแก้ไขโดยเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ มีความกังวลว่ามติดังที่กล่าวข้างต้นอาจไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น อีกทั้ง จะสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และประชาชน และอาจไม่ช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐบาลในภาพรวม นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเห็นว่าแนวทางการปฏิรูปที่ไม่ให้โอกาสกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลอย่างเพียงพออันเป็นที่มาของมตินี้ เป็นแนวทางที่ไม่ชอบธรรมและขัดแย้งต่อปรัชญาการปฏิรูปประเทศอย่างขัดเจน
เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการอย่างแพร่หลายว่าสาเหตุของปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเกิดจากการบริโภคที่ไม่สมดุล กล่าวคือ การที่ร่างกายได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมากกว่าพลังงานที่ร่างกายใช้ไปกับการมีกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น พลังงานส่วนเกินสามารถมาได้จากอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มรสหวาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรพิจารณาถึงการบริโภคโดยรวมของคนไทย แทนการพุ่งเป้าไปที่อาหารและเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แม้ภาษีอาจทำให้มีการลดหรือแม้กระทั่งเลิกการบริโภคสินค้าเครื่องดื่มรสหวานแล้ว แต่หากผู้บริโภคยังคงบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอื่นอย่างขาดสมดุล พลังงานส่วนเกินที่ร่างกายใช้ไม่หมด ก็จะยังคงสะสมเป็นไขมัน ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้เช่นกัน โดยที่รัฐไม่มีหลักประกันใดๆ เลยที่จะมั่นใจได้ว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น แม้แต่ประเทศออสเตรเลียเอง ก็มีประสบการณ์ที่การบริโภคน้ำตาลโดยรวมลดลง แต่ปัญหาผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกลับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเหล่านี้จึงเป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มสินค้าเพียงกลุ่มเดียวและไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การสร้างแบบแผนการบริโภคที่เหมาะสมของอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดในองค์รวม
ทุกภาคส่วนพึงต้องตระหนักว่าเครื่องดื่มพร้อมดื่มในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึกเป็นเพียงส่วนเดียวของเครื่องดื่มที่มีการบริโภคโดยประชาชนทั่วไป ประชาชนยังบริโภคเครื่องดื่มที่มีการผลิตและจำหน่ายโดยผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และเครื่องดื่ม อีกมากมาย โดยที่เครื่องดื่มกลุ่มนี้ไม่มีภาระภาษี แนวทางดังกล่าว นอกจากจะสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ยังอาจทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มลดลง หากคนเปลี่ยนไปบริโภคเครื่องดื่มที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันแต่ไม่มีภาระภาษีแทน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าข้อเสนอทางภาษีดังกล่าวจะกระทบโดยตรงต่อการค้า การลงทุน และการจ้างงานของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมโฆษณา อุตสาหกรรมเครื่องจักรการผลิต อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมค้าปลีก ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในภาพรวมของรัฐ โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากรายได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากรายได้ของพนักงานที่ธุรกิจเหล่านี้จ้างงาน การคาดหวังว่าการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้ภาครัฐโดยรวมนั้น จึงอาจไม่เกิดขึ้นจริง ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเสนอทางภาษีนี้มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะต้องการผลักภาระภาษีทั้งหมดให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของราคาขายปลีกที่สูงขึ้น 20 – 25% ซึ่งหากกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้มีการขึ้นราคาเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่าจะเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าเครื่องดื่มในราคาที่แพงขึ้นตามอัตราส่วนดังกล่าว
นอกจากข้อกังวลข้างต้นแล้ว สมาคมฯ ยังมีความเคลือบแคลงต่อความชอบธรรมและที่มาของมติดังกล่าวเนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่ได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างเพื่อให้กระบวนการตัดสินใจมีความเป็นธรรม รอบด้าน และครบถ้วน จากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎในสื่อสาธารณะได้แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่ามติดังกล่าวถูกผลักดันและขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน และได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการบางคนที่โดยหลักการแล้วจะต้องละวางความเห็นส่วนตัวหรือจุดยืนจากโครงการที่ตนได้รับเงินสนับสนุน และให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสมาคมฯ จะได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยจึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนข้อเสนอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานตามมติดังกล่าว และเรียกร้องให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องวางตัวเป็นกลาง ละทิ้งความเห็นส่วนตัว เปิดโอกาสและพื้นที่ให้มีการศึกษาผลกระทบตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้นโยบายที่สามารถส่งเสริมสุขภาพของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนและร่วมทำงานกับทุกฝ่ายในการพัฒนาสุขภาพโดยรวมของคนไทย ควบคู่กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพในระยะยาวของคนทั้งประเทศอย่างแท้จริง