ผ่านมาแล้วครึ่งปี สำหรับ ปี 2564 ที่ตอนแรกมีการคาดเดากันว่า สถานการณ์โควิด-19 น่าจะดีขึ้น แต่เอาเข้าจริง ตอนนี้หลายๆ ประเทศกำลังประสบปัญหาหนัก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น หลายธุรกิจจึงยังย่ำแย่ ไม่เว้นแม้แต่ “ธุรกิจความงาม” มูลค่ากว่า 2.27 แสนล้านบาทของไทย ถึงกับสะดุด ทั้งๆ ที่ถูกมองว่าไงๆ คนก็ยังขอดูดี แม้เศรษฐกิจจะฝืดเคือง ซึ่งนั่นก็จริงอยู่ แต่โควิดคราวนี้เล่นงงานหนัก
ดังนั้น ถ้าจะดูดีก็ขอแบบถนอมตัว เซฟเงินในกระเป๋าให้มากที่สุด และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ ผู้ประกอบการในธุรกิจความงามต้องปรับตัวไปกับโลกยุคใหม่เช่นกัน “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ในแวดวงความงาม ที่ต่างดิ้นประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้า
เริ่มจาก “พามงคล ฉายาวิจิตรศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซเมโกะ คลินิก จำกัด ทายาทของ นายแพทย์มนัส ฉายาวิจิตรศิลป์ ผู้ก่อตั้ง “เมโกะคลินิก” ที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารธุรกิจครอบครัว หลังจบไฟแนนซ์ จากมหาวิทยาลัย โอเรกอนสเตท สหรัฐอเมริกา โดยมีประสบการณ์กับการสร้างธุรกิจโรงแรม “เชดอนสาทร” มาแล้ว
“พามงคล” บอกว่า การบริหารธุรกิจครอบครัว สิ่งสำคัญคือการวางโพซิชั่นของแต่ละคนให้ชัดเจน พร้อมปรับมายด์เซ็ททุกคนให้ตรงกัน มอบหมายให้แต่ละคนได้มีหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมา “เมโกะ คลินิก” สามารถเดินหน้าเติบโตได้ต่อเนื่อง จนกระทั่งมาเจอวิกฤติหนักในช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งผู้บริหารหนุ่มยอมรับว่า ขณะนี้ คลินิกเสริมความงามหลายที่ต้องปิดตัวลง และสำหรับในกลุ่มของบริษัทฯ มีการปิดตัวถาวรไป 1 สาขาแล้ว เพื่อลดต้นทุน สถานที่ เทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผลิตภัณฑ์ อย่าง โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ นำเข้ามาจากต่างประเทศ ถือเป็นการบริหารต้นทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามปรับตัว หาช่องทางในการเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง โดยเครื่องมือสำคัญที่เขาเลือกใช้ ก็คือ การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น ทั้งในส่วนของการบริหารงาน และการทำโปรโมชั่น การพัฒนาสินค้า เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค
ส่วนอีกหนึ่งธุรกิจความงามของพิธีกรหน้าหวาน “ต้นอ้อ-ภัทธีมา โกมลบวรกุล” เจ้าของแบรนด์สกินแคร์ Beautica ที่ก่อร่างสร้างธุรกิจจากความรักสวยรักงาม จนทำให้แบรนด์ Beautica เติบโตเป็นที่รู้จัก สาวสวยคนนี้เล่าว่า สินค้าในกลุ่มสกินแคร์เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 น้อย เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ แม้ว่าจะคนทำงานที่บ้านก็ยังต้องใช้ เพียงแต่จะซื้อเท่าที่จำเป็น ทำให้ยอดขายของเธอลดลงไปราว 50%
วิธีการในการปรับตัว “ต้นอ้อ” บอกว่า เธอได้ปรับแนวทางการตลาดมาตั้งแต่โควิดระลอกแรก ด้วยการให้ความสำคัญกับตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยให้สัดส่วนมากถึง 80% ด้วยการวางโพสต์สินค้าในมาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคยุคนี้เลือก รวมทั้งมีการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพและความงาม ควบคู่กับการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย
“การทำธุรกิจขณะนี้ แม้เราเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ แต่การทำธุรกิจ นักธุรกิจสามารถปรับมุมมอง เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ ที่สำคัญคือเรื่องของการปรับตัว และตื่นตัวตลอดเวลา”
เมื่อปรับกลยุทธ์ภายในแล้ว ผลิตภัณฑ์ก็ต้องมีการพัฒนาตัวใหม่ๆ ออกมา ซึ่งปลายปีนี้จะออกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรตีนที่ทำจากพืช และกำลังศึกษาวิจัยกัญชง พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป โดยบริษัทเน้นผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ปลอดภัย ผลลัพธ์ดีเยี่ยม ในราคาที่ย่อมเยา
ส่วนในมุมของผู้ผลิต อย่าง “พรพัชร์ชา ลือวงษ์วระกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นำทรัพย์แลบบอราทอรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า โรงงานผลิตเครื่องสำอางมาตรฐานสากลของเธอ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะออร์เดอร์ลดลงถึง 20% ทั้งออร์เดอร์ในประเทศ และต่างประเทศ
วิธีการในการปรับตัว คือ นอกจากเป็นผู้ผลิตแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีให้กับคู่ค้า โดยการให้คำปรึกษา รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการทำแบรนด์ต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจ ส่วนในแง่การตลาด ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคงมาตรฐาน คุณภาพ และการบริการ รวมทั้งการเพิ่มความสะดวกให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค ด้วยการนำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และโซเซียลมีเดียเข้ามาใช้ให้มากขึ้น
แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ธุรกิจสะดุด แต่ “วิภาวดี อ่อนสอาด” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลฟันทองหล่อ จำกัด ก็ไม่ย่อท้อ และยังตั้งเป้าที่จะทำให้โรงพยาบาลฟันทองหล่อ เป็นหนึ่งในด้านหัตถกรรม ด้วยความที่คนหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ควบคู่กับการที่ต้องดูดีเสมอ
ในการทำธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม สิ่งที่ต้องปรับตัวชัดเจน คือ ปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรการพฤติกรรม New Normal ที่ให้ความสำคัญกับ “มาตรฐานและความปลอดภัย” มาเป็นอันดับหนึ่ง และนั่นคือ เหตุผลที่่ทำให้โรงพยาบาลฟันทองหล่อ ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 น้อยมาก แม้จะงดงานบางประเภทที่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อ เช่น การขูดหินปูน แต่ส่วนบริการอื่นๆ ยังคงเดิม และได้ปรับตัวมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วโดยมุ่งให้บริการคนไทย 80% และต่างชาติ 20% ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นนักธุรกิจ ดารา นักแสดง
“วิภาวดี” เล่าว่า ได้มีการนำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเข้าใช้มากขึ้น มีวิดีโอคอนเฟอเร้นระหว่างแพทย์กับผู้ใช้บริการ พร้อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม และการสื่อสารกับคนไข้อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่กำลังทำเพิ่มเติมขณะนี้ คือ เรื่องของอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอบริการและโปรโมชั่นผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น
หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,702 วันที่ 5 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564