นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ "ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" และเป็นผู้นำATK เข้าประมูล ในโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า
ณุศาศิริ มีแผนรุกเดินหน้าธุรกิจด้านการแพทย์-ด้านสุขภาพ พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทย่อย "พานาซี กรุ๊ป" เป็น "เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) " เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการในธุรกิจด้านการแพทย์ และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพการดำเนินงานในอนาคตและพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพ (Wellness)
ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้เข้าซื้อ โรงพยาบาลพานาซีเยอรมนี และพบว่า ในประเทศเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป มีการใช้และวางจำหน่าย ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ซึ่งผลิตโดย Lepu Medical Technology ประเทศจีน อย่างแพร่หลาย และได้รับใบรับรองจากสมาคมวัคซีนของเยอรมันนีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับรองมาตรฐานจาก EU
ในขณะที่ประเทศไทย บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้นำเข้ามาทำตลาดซึ่งบริษัทจึงได้ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อเสนอขายกับหน่วยงานต่างๆ และผ่านแพลตฟร์อม หมอ ฮัลโหล ของบริษัท
ทั้งนี้ได้สั่งซื้อ ATK ล็อตแรกและคาดว่าจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันจันทร์ 16 สิงหาคมนี้
ย้อนกลับไปในช่วงกรกฏาคม หลังจากมีข่าว FDA ได้สั่งระงับใช้ชุดตรวจ เชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology ทางบริษัทได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า Lepu Medical Technology ไม่เคยขอ FDA ในสหรัฐอเมริกา เพราะช่วงที่โดนัล ทรัม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ไม่อนุญาตให้สินค้าจากจีน เข้าไปขอ FDA ส่วนกรณี FDAสหรัฐขอเก็บคืน เพราะว่าเป็นสินค้าที่ถูกลักลอบนำเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ล่าสุด FDA ยังได้ยังเรียนเชิญ Lepu ไปขึ้นทะเบียนเพื่อขายในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
สำหรับการประมูลในโครงการ สปสช. เป็นบริษัท "เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) บริษัทลูกของณุศาศิริซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่ง ณุศาศิริ มีทุนจดทะเบียนกว่า 7,641 ล้านบาท ที่เข้าไปประมูล และเซ็นสัญญากับอภ. รวมทั้งการสั่งซื้อและนำเข้าทั้งหมด 100% และมีศักยภาพพอที่จะนำเข้า ATK มาให้รัฐบาลได้ทันตามกำหนดภายใน 14 วัน
“ซึ่งราคาที่ยื่นประมูลแต่ละบริษัทไม่ได้ต่างกันมาก เราชนะประมูลคู่แข่งในราคาที่ต่ำกว่าแค่ 2 บาท และ ATK ที่นำเข้าประมูลไม่ได้ราคาถูก แต่ปริมาณมันมากเราก็จะซื้อได้ในราคาที่ต่ำลง เช่นสั่งซื้อในประมาณ 8.5 ล้านชิ้นทำให้เรทราคานั้นต่ำลง จากที่เคยนำเข้าจำนวนหลักแสนชิ้น เพราะยิ่งสั่งซื้อมากก็ยิ่งสามารถต่อรองราคากับทางโรงงานผลิตได้
เบื้องต้น บริษัท ได้ทำข้อตกลงในการนำเข้าและส่งมอบ ATK ให้ทางอภ. ทั้งหมด 8.5 ล้านชิ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม โดยล็อตแรกจำนวน 4ล้านชิ้นจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ส่วนล็อตที่ 2 จำนวน4.5 ล้านชิ้น จะเดินทางเข้ามาถึงไทยในช่วงสิ้นเดือนนี้ โดยบริษัทได้เช่าเหมาลำการบินไทยเพื่อบินตรงนำเข้าโดยเฉพาะ และทันทีที่สินค้าเข้ามาถึงประเทศไทยจะทำการนัดตรวจรับและกระจาย ATK ออกไปทันที เพราะเรารู้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้อย่างเร่งด่วนในตอนนี้"
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีการชะลอการเซ็นสัญญาออกไป ซึ่งณุศาศิริ ได้ติดต่อกลับไปที่โรงงานผลิตเพื่อระงับการผลิตไว้ก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน ทั้งนี้ผู้บริหารเปิดใจว่า หากมีการล้มการประมูลเกิดขึ้นจริง ไม่ส่งผลกระทบมากกับบริษัท เพราะเดิมบริษัทมีแผนนำเข้าเข้ามาจำหน่ายบนแพลตฟร์อมของตัวเอง รวมทั้งในในภาคการท่องเที่ยวในโครงการ กรีนบ็อกซ์ ที่มายโอโซน ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ผู้เข้าพักทุกคนต้องทำการทดสอบและตรวจเชื้อโควิดก่อน
ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าแพงขึ้นกว่า การสั่งนำเข้าในปริมาณมากรวมกับล็อต อภ. ที่จะได้ต้นทุนในราคาพิเศษ
“จุดประสงค์ที่เราไปประมูลงานหลวงเพราะเราอยากได้วอลลุ่ม แล้วเอามากระจายสู่กลุ่มนักธุรกิจท่องเที่ยว ถ้าเราได้งานนี้ สิ่งที่จำต่อไปคือบอกต่อในเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเราจะสั่งรวมกับล็อตที่จะส่งมอบ สปสช. และจะได้ในราคาทุนประมาณ 70 บาท แต่หากเราหลุดประมูล เราอาจต้องกลับไปซื้อในต้นทุน 100-200 กว่าบาทแล้วแต่จำนวนที่สั่ง”
ทางด้าน นางสาวรังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เปิดเผยถึงประเด็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ระงับใช้และเรียกคืนชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ภายใต้การควบคุมการผลิตของ Lepu Medical (Europe) Cooperatief U.A. ณ ประเทศจีน ว่า กรณีดังกล่าว ทางบริษัทฯ ตรวจสอบพบว่า Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd บริษัท ฯ ผู้ผลิตไม่เคยมีการจำหน่าย SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test ในประเทศสหรัฐฯ และไม่เคยยื่นขอ FDA จากสหรัฐฯ แต่อย่างใด
โดยสินค้าที่ปรากฏในท้องตลาดจำนวน 200,000 ชิ้นนั้น ถูกนำเข้าจากประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ประเทศของบริษัทฯ ผู้ผลิต และไม่ได้ส่งจากบริษัทฯ ผู้ผลิตโดยตรง จึงส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้า บริษัทฯ ผู้ผลิต ได้ช่วยทาง FDA ดำเนินการตรวจสอบในส่วนต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบการขนส่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งไปยังผู้จำหน่ายต่าง ๆ รวมไปถึงการดำเนินการเรียกคืนสินค้าตามระเบียบของ FDA
อีกหนึ่งการรับรองคุณภาพของชุดทดสอบ ATK ที่ทางออสท์แลนด์ฯ นำเข้ามานั้น คือการประกาศจาก สหพันธ์ยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และ The Health Security Committee และ Federal Institude for Drugs and Medical Devices ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางเยอรมัน หน่วยงาน Bundesinstitut für Arzneimittel und Medizinprodukte (BfArM) ได้ประกาศว่าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบ โควิด-19 ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” เป็นหนึ่งในรายชื่อชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจน ที่ให้ผลการทดสอบที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังผ่านการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังจากออกวางจำหน่ายโดย สถาบัน BIOMEX GmbH Heidelberg ณ ประเทศเยอรมัน โดยการใช้งานของบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีผลการศึกษาและทดสอบตามลำดับ
ดังนี้ ในเดือนเมษายน 2564 The diagnostic sensitivity was 91.30%, and the specificity was 100% (ความไวในการวินิจฉัยคือ 91.30% และความจําเพาะ 100%) และเดือนมิถุนายน 2564 The diagnostic sensitivity was 95.90%, and the specificity was 100% (ความไวในการวินิจฉัยคือ 95.90% และความจําเพาะ 100%) นอกจากนี้ ชุดตรวจ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ที่
ผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ยังได้รับการรับรองจาก Conformite European (CE) ซึ่งเป็นกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการทดสอบที่ระบุไว้ จึงจะสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรป