"นกแอร์"เปิดแผนฟื้นฟูกิจการ เพิ่มทุน 4 พันล้าน-ล้างหนี้ 5.3 พันล.ใน 5 ปี

19 ส.ค. 2564 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 15:07 น.

ล่าสุดเจ้าหนี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการของสายการบินนกแอร์แล้ว ทิศทางจากนี้จะเป็นอย่างไร อ่านได้สัมภาษณ์พิเศษนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

ซีอีโอ “วุฒิภูมิ”เปิดใจว่านกแอร์ได้รับการโหวตจากเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 4 ส.ค.64 ซึ่งเจ้าหนี้กว่า 76.72%ของจำนวนหนี้ทั้งหมด ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ ฉบับแก้ไข ที่เราปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และเห็นชอบตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูจำนวน 4 คน รวมถึงจากนี้ทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ จะนัดพิจารณาคดีในวันที่ 26 ส.ค.นี้ จากนั้นศาลล้มละลายกลางก็นัดฟังคำสั่งอีกทีหนึ่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือนก.ย.นี้

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

 

สรุปหนี้สินอยู่ 5.3 พันล.

 

เจ้าหนี้ของนกแอร์มีทั้งหมด 173 ราย มีหนี้รวมกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้มีการตัดหนี้ในอนาคตออกไปเบ็ดเสร็จแล้วนกแอร์ มีภาระหนี้สินอยู่ 5,300 ล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่จะเป็นเงินกู้ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (หทัยรัตน์ จุฬางกูร) 2,771 ล้านบาท โดยนกแอร์ได้แบ่งเจ้าหนี้ออกเป็น 16 กลุ่ม ได้แก่

 

  • กลุ่มที่1 เจ้าหนี้สถาบันการเงินมีหลักประกัน 2 ธนาคาร คือ กสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพฯ 648 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าเครื่องบินโดยนกแอร์ดำเนินการโดยตรง 1,600 ล้านบาท (รวมหนี้ในอนาคต)
  • กลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ตามภาระหนี้เกี่ยวกับการเช่าเครื่องบินที่นกแอร์ไม่ได้ดำเนินการโดยตรง 698 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้ที่เกี่ยวกับการคืนค่าบัตรโดยสาร 72 ราย 475,000 บาท
  • กลุ่มที่5 เข้าหนี้ค่าตอบแทนตั๋วขายบัตรโดยสารค้างจ่าย (ผู้เช่าเหมาลำ) 32 ล้านบาท
  • กลุ่มที่6 เจ้าหนี้การค้าทั่วไป 55 ราย 549 ล้านบาท
  • กลุ่มที่7 เจ้าหนี้พนักงาน 51 ราย 226 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 8 เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับค่าซ่อมแซมเครื่องยนต์ 2 ราย 78 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 9 เจ้าหนี้องค์กรหรือหน่วยงานราชการ อาทิ วิทยุการบิน กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 6 ราย 100 ล้านบาท
  • กลุ่มที่10 เจ้าหนี้เงินกู้ยืมของผู้ถือหุ้น 2,771 ล้านบาท
  • กลุ่มที่กลุ่มที่11 เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ 7.9 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 12 เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวกับการชี้ขาดของอนุญาโตตุลการในต่างประเทศ คือลุฟท์ฮันซาเทคนิค 206 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 13 เจ้าหนี้ตามภาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอื่นๆ 19 ล้านบาท
  • กลุ่ม 14 คือเจ้าหนี้ตามภาระหนี้เกี่ยวกับสัญญามีข้อพิพาทกับลุฟท์ฮันซ่าเทคนิค 991 ล้านบาท
  • กลุ่มที่15 เจ้าหนี้หน่วยงานราชการเกี่ยวกับหนี้ภาษี 53.9 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 16 เจ้าหนี้ตามภาระหนี้เกี่ยวกับการเช่าเครื่องบิน 19,000 ล้านบาท (หนี้ในอนาคต) หนี้เหล่านี้เจ้าหนี้ได้นำหนี้ในอนาคตมารวมด้วย แต่เมื่อหักหนี้ในอนาคตออกไป นกแอร์ก็เหลือหนี้จริงๆอยู่ 5,300 ล้านบาท

 

ไม่เกิน 5 ปีออกจากแผน

 

ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ นกแอร์ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ จากผู้โดยสารมองว่าโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เป็นพรีเมี่ยม แอร์ไลน์ จากการที่ลูกค้าสามารถเลือกรับบริการได้หลากหลาย เช่นต้องการบริการแบบฟูลเซอร์วิส สามารถเลือกใช้บริการ NOK MAX ถ้าเลือกเฉพาะตั๋วเครื่องบิน เลือก NOK Lite หรือเลือกซื้อตั๋วเครื่องบิน+น้ำหนักกระเป๋า 20 กิโลกรัม เลือก NOK X-tra

เราตั้งเป้าหมายว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี ซึ่งแผนจะสำเร็จได้ อยู่ที่ต้องชำระหนี้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผน หรือเมื่อได้รับเงินเพิ่มทุน หรือสินเชื่อใหม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่นำเสนอ ซึ่งในการชำระหนี้นั้น นับจาก 60 วันเมื่อศาลฯผ่านแผนฟื้นฟู นกแอร์จะจ่ายชำระเจ้าหนี้ที่เกี่ยวกับการคืนค่าบัตรโดยสาร 72 รายจำนวน 475,000 บาท

 

ถ้าลูกค้าซื้อผ่านเอเย่นต์ก็ต้องไปรับคืนกับเอเย่นต์ ในจำนวนนี้มีที่ซื้อตรงกับนกแอร์ ราว 2 แสนบาท จากนั้นก็ทยอยชำระหนี้ในส่วนต่างๆ ขณะที่หนี้เงินกู้ยืมของผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะได้รับชำระหนี้คืนในปีสุดท้ายที่ออกจากแผนคือปี 2569

 

หาผู้ร่วมทุนเพิ่มทุน

 

ส่วนแผนโครงสร้างทางการเงินนั้น ด้วยความที่นกแอร์ ยังมีเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่และยังไม่ได้ใช้หมด ทำให้ในปี 65 นกแอร์จะกู้เงิน 280 ล้านบาท ที่อาจจะมาจากผู้ถือหุ้น สถาบันการเงินหรือบริษัททั่วไป เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในช่วงที่ธุรกิจการบินยังไม่ฟื้นตัว ส่วนในปี 66 เพิ่มทุน 600 ล้านบาท และปี 69 จะเพิ่มทุน 4 พันล้านบาท เนื่องจากนกแอร์มีแผนจะเพิ่มเครื่องบินและนำเงินไปจ่ายชำระหนี้

 

\"นกแอร์\"เปิดแผนฟื้นฟูกิจการ เพิ่มทุน 4 พันล้าน-ล้างหนี้ 5.3 พันล.ใน 5 ปี

“การเพิ่มทุนก็ทำได้หลายวิธีรวมถึงการหาผู้ร่วมทุน ซึ่งทุกวันนี้นกแอร์ก็มีกลุ่มสถาบันการเงิน กองทุน และสายการบิน สนใจที่จะเพิ่มทุนหรือสนับสนุนเงินกู้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากจีน เกาหลีใต้ แต่เป้าหมายของนกแอร์ คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการให้นกแอร์เป็นสายการบินของคนไทย เราไม่มีทางขายให้ต่างชาติแน่นอน แต่กรอบการเลือกใครเข้ามาร่วมลงทุน ต้องมองแนวทางที่เขามีจุดเด่นมาเสริมธุรกิจของนกแอร์เป็นสำคัญ”

 

นกแอร์มองว่าการเกิดโควิดตอนนี้เราเจ็บตัวน้อยสุด เพราะเราไม่ใช่สายการบินใหญ่ และนกแอร์ ก็ยังคงเปิดทำการบินในประเทศเข้า-ออกจากสนามบินอู่ตะเภาได้อยู่ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็นในการเดินทาง แม้จะต้องจัดที่นั่งขายแค่ 50% ดีมานต์ผู้โดยสารไม่มากเท่าปกติ

 

แต่ราคาขายก็สามารถปรับขึ้นได้ 3 เท่า หรือเฉลี่ยราคา3 พันบาทขึ้นไป โดยขอให้เราบินได้คุ้มค่าน้ำมัน ทั้งยังมองว่าต่อไปการแข่งขันในธุรกิจนี้ก็จะลดลงพอสมควร ไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงเหมือนในอดีต

ทั้งเรามองว่าในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ก็คาดว่าธุรกิจของนกแอร์น่าจะกลับมาอยู่ที่ 70% ของปี 62 และมองว่าในกลางปีหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอัตราการบรรทุกเฉลี่ย 70% จากปกติที่จะอยู่ 85-90% เพราะคนไทยน่าจะเริ่มมีการเดินทางได้หากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

 

ขณะที่เราก็คาดว่าจีนน่าจะเริ่มเปิดประเทศกลางปีหน้า แม้จำนวนการเดินทางอาจไม่มาก แต่ก็เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจของนกแอร์กลับไปบินต่างประเทศได้เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด

 

ปัจจุบันนกแอร์มีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำและเครื่องบิน Q400 จำนวน 8 ลำ ภายในปีนี้เราจะคืนเครื่องบิน Q400 ออกจากฝูงบินไป 5 ลำ และจะนำเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เข้ามาอีก 6 ลำที่อยู่ระหว่างการขออนุญาติจาก CAAT มีเครื่องบินขนส่งสินค้าอีก 1 ลำ เพื่อมาให้บริการคาร์โก้ และเราจะคืนเครื่องบิน Q400 ทั้งหมดในปี 67

\"นกแอร์\"เปิดแผนฟื้นฟูกิจการ เพิ่มทุน 4 พันล้าน-ล้างหนี้ 5.3 พันล.ใน 5 ปี

 

ส่วนปี 66 เพิ่มโบอิ้งอีก 2 ลำ ปี 67 เพิ่มโบอิ้งอีก 3 ลำ ปี 68 เพิ่มอีก 2 ลำ ปี 69 เพิ่มอีก 2 ลำ หรือเฉลี่ยปีละ2 ลำ ซึ่งที่ผ่านมานกแอร์ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องบินโบอิ้ง แม็กซ์ ไว้ 8 ลำ ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองราคาเพื่อทยอยนำเครื่องเข้ามา  เพื่อนำมาใช้ขยายธุรกิจที่เรามองทั้งเมืองรองในประเทศ การขยายจุดบินในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง

 

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 65-66 เรามองว่า นกแอร์อาจจะยังขาดทุนอยู่เพราะธุรกิจการบินอาจจะยังไม่ฟื้นสู่ปกติ แต่ในปี 67 เราคาดว่าจะสามารถมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากนกแอร์ทำการบินในเที่ยวบินระยะไกลมากขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 20% เพราะที่ผ่านการบินในประเทศอย่างเดียวทำให้มีต้นทุนที่สูง

 

สำหรับในส่วนของพนักงาน ปัจจุบันเรามีพนักงานอยู่ที่ 1,411 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการลาออกไปพอสมควร เพราะการบินยังไม่กลับสู่ปกติ เขาก็ออกไปหาอาชีพอื่น และลูกเรือส่วนใหญ่เราจ้างเป็นคอนแท็กซ์ 3-6 ปี ก็จึงไม่ได้มีเรื่องของการลดจำนวนพนักงานลงมากมายจากที่เป็นอยู่

 

แต่จะเน้นการปรับโครงสร้างทางการเงินการพัฒนาบุคคลากร การบริหารต้นทุน บริหารรายได้ และหาพันธมิตรการขายและการลงทุนที่เหมาะสมเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายของการเดินแผนฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ที่เกิดขึ้น

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,704 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564