การระบาดอย่างต่อเนื่องและยาวนานของโควิด-19 ในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่พบว่า มีกำลังซื้อลดน้อยอย่างเห็นได้ชัด ผนวกกับมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในพื้นที่สีแดงเข้มของศบค. ส่งผลให้ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า
รวมถึงคอมมูนิตี้ มอลล์ ต้องปิดให้บริการเหลือเพียงบริการดีลิเวอรี หรือจำหน่ายในรูปแบบอาหารพร้อมทานผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น ส่งผลให้ตลาดเบเกอรี่ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่เคยเติบโตต้องหดตัวลง และส่งสัญญาณว่าอาจจะ “ติดลบ” ก็เป็นได้
นายสุชีพ ธรรมาชีพเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ส่งผลกระทบทำให้ร้านในกลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine
ประกอบไปด้วย มิสเตอร์ โดนัท , อานตี้ แอนส์, โคล สโตน ครีมเมอรี่ และ อาริกาโตะ ต้องปิดสาขาไปราว 260 สาขา หรือคิดเป็น 61% ของสาขาทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่อยอดขายและพนักงานหน้าร้าน
โดยพบว่าผลประกอบการในครึ่งปีแรกลดลง 5-6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทั้งปีบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้กว่า 2,900 ล้านบาท หรือเติบโต 18-20% จากปีก่อน
ทั้งนี้การผ่อนปรนให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการในรูปแบบ food delivery ได้นั้น นับเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็น option ที่ดีที่สุดในการสร้างยอดขายได้ตามปกติ แต่ก็นับเป็นการแบ่งเบาภาระของร้านอาหารได้ในระดับหนึ่ง เมื่อยอดขายกลับมาก็เป็นผลดีต่อผลประกอบการของบริษัท , พนักงานสามารถกลับมาทำงานได้ รวมไปถึงซัพพลายเออร์ก็จะมีรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบด้วย
นายสุชีพ ยังสะท้อนให้เห็นว่า แต่การเปิดดีลิเวอรีอย่างเดียวอาจจะไม่คุ้มค่ากับการที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ดังนั้น CRG อาจต้องพิจารณาเปิดในบางโลเคชั่นที่ดูแล้วคุ้มค่ามากที่สุด โดยเปิดใน โลเคชั่นที่มีทราฟฟิคดี หรือสาขาในซูเปอร์มาร์เก็ต หากภาครัฐอนุญาตให้เปิดจำหน่ายในรูปแบบการซื้อกลับบ้าน (takeaway) ได้
ทางบริษัทก็มีแผนงาน ให้พนักงานหน้าร้านปรับรูปแบบการบริการ อาทิ จัดสรรให้มีพนักงานคอยรับออเดอร์ลูกค้า ณ จุดที่ทางศูนย์การค้าจัดการไว้ หรือการจัดเตรียมเมนูเซ็ต ให้หลากหลาย และเหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถเดินมาเลือกหรือสั่งอาหารที่หน้าร้านได้ และการรับชำระเงินด้วย QR payment เพื่อลดการสัมผัส เป็นต้น
“ตั้งแต่ปี 2562-2563 เรามีการปรับแผนธุรกิจต่อเนื่อง ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เราพึ่งพา delivery ที่มีความเข้มแข็งอย่างมากเป็นหลัก เพราะเรามีพันธมิตรหลายแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ดีในไตรมาส 4 นี้ บริษัทจะมีสินค้า innovation ออกวางจำหน่าย เช่น โปรตีนทดแทนจากพืชหรือ plant based เพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ เป็นต้น”
ส่วนธุรกิจโดนัท บริษัทเตรียมทำแคมเปญช่วยเหลือสัตว์ป่า เพื่อกระตุ้นการซื้อ รวมทั้งแผนขยายสาขานอกศูนย์การค้าเพิ่ม 40-50 สาขา เพื่อรองรับลูกค้าที่ไม่อยากเดินทางมาศูนย์การค้า นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาระบบรองรับ Cashless payment หรือการจับจ่ายโดยไม่ใช้เงินสด ซึ่งปัจจุบันเริ่มดำเนินการบ้างแล้วเพื่อลดความเสี่ยงของลูกค้าและลดความเสี่ยงของพนักงานในการสัมผัสเงินสด
“เชื่อมั่นว่าธุรกิจในไตรมาส 4 จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอนแม้ว่าจะอาจไม่ตรงตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะเราไม่คิดว่าในปีนี้เราจะเจอกับการแพร่ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานและล็อกดาวน์แบบนี้”
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,707 วันที่ 22 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564