‘แกรนด์แอสเสท’ ตุน 4.5 พันล้าน เสริมสภาพคล่องฝ่าโควิด

21 ส.ค. 2564 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2564 | 16:48 น.

‘แกรนด์แอสเสท นำโรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ เข้าร่วมโครงการ REIT buy-back ที่มีข้อตกลงในการซื้อคืน หรือ GROREIT ส่งผลให้บริษัทกำเงินกว่า 4,500 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่องฝ่าวิกฤตโควิด

การนำโรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ ของแกรนด์แอสเสทฯ เข้าร่วมโครงการ REIT buy-back โดยเสนอขายทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แกรนด์ รอยัล ออคิด โฮสพีทาลิตี้ ที่มีข้อตกลงในการซื้อคืน หรือ GROREIT มูลค่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งหลังเปิดขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีชนิดที่ที่ขายหมดเกลี้ยง

                                                                               

แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนจากหุ้นอาจมีความผันผวนไม่แน่นอน แต่การลงทุนใน GROREIT มีอัตราผลตอบแทนคงที่ สามารถให้เงินปันผลได้สูง ผลตอบแทนรวมที่ประมาณ 8% ต่อปี (IRR)

 

จึงเป็นทางเลือกการลงทุนสนใจ และยังเป็นการลงทุนซื้อกรรมสิทธิ์ (Freehold) ของโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินราว700 ล้านบาทจากราคาประเมินที่อยู่ที่ราว 5.2 พันล้านบาท

‘แกรนด์แอสเสท’ ตุน 4.5 พันล้าน เสริมสภาพคล่องฝ่าโควิด

ขณะที่ธุรกิจเองก็มีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่อง ในช่วงโควิด-19  โดยที่ยังมีสิทธิ์ในการเช่าโรงแรมเพื่อนำไปบริหารต่อและมีสิทธิในการซื้อคืนได้ภายใน 5 ปี

นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงแรม รอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการที่ ROH ระดมทุนผ่านกองทรัสต์โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน GROREIT- REIT Buy Back กองแรกของไทย

 

เพราะเห็นว่าเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการคิดเรื่องการออกกองรีทมาระยะหนึ่งแล้ว  และโรงแรมนี้ไม่มีภาระหนี้สิน ซึ่งก็เข้าเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ REIT buy-back

‘แกรนด์แอสเสท’ ตุน 4.5 พันล้าน เสริมสภาพคล่องฝ่าโควิด

ทั้งที่สำคัญคือโครงการนี้ให้สิทธิ์ซื้อที่ดินและโรงแรมกลับคืนมาได้ ไม่ใช่การขายขาด ซึ่งตั้งใจซื้อคืนภายใน 5 ปี โดยการระดมทุนที่เกิดขึ้นทำให้เรามีเงินเข้ามา 4,500 ล้านบาท เข้ามาเป็นสภาพคล่องในช่วงโควิดนี้ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบมากจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะหลังจากเกิดโควิดระลอก3  การระดมทุนแบบ REIT เป็นแผนระดมทุนระยะสั้นที่บริษัทจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ

 

แต่ในแผนระยะยาว บริษัทยังคงเตรียมการกลับมาซื้อโรงแรมคืนแน่นอน เพราะเปรียบเทียบมูลค่าที่บริษัทระดมทุนผ่านกองทรัสต์กับอนาคตการสร้างรายได้ของโรงแรมนั้น การซื้อคืนย่อมดีกว่าในแง่ของการดำเนินธุรกิจ เพราะโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เชอราตัน” ในเครือ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล

 

โดยก่อนเกิดโควิดโรงแรมแห่งนี้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเกิน 80% มีศักยภาพในการทำรายได้ที่ดี โดยในปี59 มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 863 ล้านบาท ปี 60 มีรายได้ 893 ล้านบาท ปี 61 มีรายได้ 1,030 ล้านบาท และปี 62 มีรายได้ 1,075 ล้านบาท  หรือแม้แต่การดำเนินแผนการเจรจาขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่อจากที่ได้เคยเจรจาไว้ก่อนหน้านี้ เพราะเพียงแค่เฉพาะมูลค่าที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ปัจจุบันก็อยู่ที่ประมาณ 3,000-3,200 ล้านบาท

ส่วนจะมีการนำโรงแรมอื่นเข้าโครงการ REIT buy-back อีกหรือไม่ ขอพิจารณาในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากต้องการพิจารณาเรื่องของการระดมฉีดวัคซีนในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เพราะวัคซีนเป็นทางออกที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นายศานิต กล่าว ทิ้งท้าย

     ‘แกรนด์แอสเสท’ ตุน 4.5 พันล้าน เสริมสภาพคล่องฝ่าโควิด                                             

สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมนับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิดระลอก3 ถือว่าได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นแผนการลงทุนในส่วนของบมจ.แกรนด์แอสเสท อย่างการสร้างโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ ระยอง ก็คงต้องชลอไปก่อน แต่ในส่วนของโรงแรมทั้ง 5 แห่งเราคงเปิดให้บริการอยู่ และจะมีการปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถให้บริการได้หลากหลายรูปแบบตรงตามความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน

 

อาทิ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ปรับปรุงร้านอาหารริมน้ำใหม่ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า เตรียมแผนปรับรูปแบบการให้บริการเป็นไพรเวทออนเซ็นพูลวิลล่า โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพ สุขุมวิท ปรับรูปแบบการให้บริการโดยนำ “ร้านข้าว” ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์มาเปิดให้บริการที่ชั้น 4 ในโรงแรมส่วน “สเปคตรัม” รูฟท็อปบาร์ใจกลางสุขุมวิท จะเน้นเจาะตลาดกลุ่ม Gen Y และ LGBTQ เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตามแกรนด์แอสเสทมีความเชื่อมั่นว่าภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ภาคบริการของประเทศจะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็ว หากรัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนประสิทธิภาพสูงปูพรมฉีดให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ในระดับที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนเช่นในต่างประเทศบางประเทศที่ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มฟื้นแล้ว ซึ่งบริษัทพยายามหาแนวทางเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564