บิ๊กธุรกิจโรงแรม-สายการบิน เปิดแนวรุกบริหารความเสี่ยงฝ่าโควิด

21 ส.ค. 2564 | 05:47 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2564 | 13:13 น.

ปิดฉากธุรกิจท่องเที่ยวครึ่งปีแรกของบริษัทรายใหญ่ในตลท. ล้วนขาดทุนถ้วนหน้าจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ยกเว้นการบินไทย ที่พลิกกลับมามีกำไร ขณะที่บริษัทอื่นๆ แม้จะขาดทุนแต่ธุรกิจต่างมีกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงเพื่อฝ่าวิกฤติโควิดที่ยังกระทบต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

สถานการณ์ท่องเที่ยวตลอด 6 เดือนแรกของปี 64 การเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทยลดลงไปกว่า 20.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 36 ล้านคน-ครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวม 127,946.63 ล้านบาท ลดลง 39.32% ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 3,313.74 บาท ลดลง 21.23%

 

ส่วนอัตราเข้าพักเฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 12.20% ลดลง58.55% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 จากมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาดทั้งการจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายผู้คน และการรวมคนจำนวนมาก

 

ขณะที่การเดินทางของต่างชาติมาเที่ยวไทย ซึ่งยังไม่ได้มีการเปิดการท่องเที่ยวแบบแซนด์บ็อกซ์ 2564 จึง มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 40,447 คน แต่อย่างไรก็ดีจากการคาดการณ์ของททท. ในปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ราว 85,000 ล้านบาท ที่ต้องฝากความหวังไว้ที่การเปิดประเทศในพื้นที่นำร่องแบบไม่กักตัว โดยเฉพาะความสำเร็จของ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

 

บิ๊กธุรกิจโรงแรม-สายการบิน เปิดแนวรุกบริหารความเสี่ยงฝ่าโควิด

การหดตัวอย่างมากของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากในปี 63 ที่อยู่ที่ 6.7 ล้านคนมาเหลือ 1.2 ล้านคนในปีนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ต่างล้วนมีแผนรับมือด้วยการบริหารความเสี่ยงไว้แล้วเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

 

เริ่มกันจากธุรกิจสายการบิน พี่ใหญ่อย่าง “การบินไทย” ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้พลิกมาทำกำไร 11,125 ล้าน ซึ่งเป็นกำไรครั้งแรกในรอบสิบปี โดยกำไรที่เกิดขึ้นหลักๆมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ 8,675 ล้านบาท กำไรจากการสินทรัพย์ และเงินลงทุนในบริษัทฯและการขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินที่ลดลงจากการปรับปรุงบัญชีตามนโยบายทางการบัญชีและค่าใช้จ่ายที่ลดลงกว่า 58.2% ขณะที่รายได้จากการดำเนินธุรกิจลดลง 74.8% มีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,220 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 30,273 ล้านบาท

 

โดยในขณะนี้การบินไทยก็อยู่ระหว่างดำเนินการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ และแผนปฏิรูปธุรกิจทั้งในส่วนของการหารายได้เสริมจากกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการขนส่ง และการปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร การขายสินทรัพย์ต่างๆอย่างการขายที่ดินและสำนักงานอีก 10 แห่งในไทยที่อยู่ระหว่างการประมูล รวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานด้านอื่นๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องระหว่างจัดหาสินเชื่อใหม่อีก 5 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในช่วง 3-5 ปีนี้ และจนกว่าสถานการณ์โดยรวมในอุตสาหกรรมการบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

บิ๊กธุรกิจโรงแรม-สายการบิน เปิดแนวรุกบริหารความเสี่ยงฝ่าโควิด

 

ขณะที่ “บางกอก แอร์เวย์ส” ที่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยในครึ่งแรกของปีนี้ขาดทุน 1,431 ล้าน ลดลงกว่าครึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีรายได้ลดลง 61.8% ก็ตาม ซึ่งหลักๆบางกอกแอร์เวย์ส ลดต้นทุนพนักงานด้วยการเปิดเออรี่รีไทร์ การยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวกับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย ซึ่งคงเหลือระยะเวลาเช่าตามสัญญา 15.5 ปี ซึ่งทำให้บริษัทฯสามารถดำเนินกิจการสนามบินสมุยต่อไป โดยปราศจากภาระหน้าที่ต่อกองทุนรวมตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในราคาที่สูง ทำให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ

 

ส่วน “ไทยแอร์เอเชีย” ในช่วง 6 เดือนนี้ถือว่าพอสมควรแต่ก็มีกลยุทธ์ในการประคองธุรกิจด้วยการหาโอกาสใหม่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเปิดตัวAIRASIA FOOD ผ่าน Airasia Super App หลังที่กลุ่มแอร์เอเชียเข้าซื้อกิจการ Gojek ประเทศไทย และธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ควบคู่กับการอยู่ระหว่างการหาแหล่งเงินกู้และการปรับโครงสร้างบริษัท เพื่อนำบริษัทไทยแอร์เอเชียจำกัดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน AAV

บิ๊กธุรกิจโรงแรม-สายการบิน เปิดแนวรุกบริหารความเสี่ยงฝ่าโควิด

สำหรับในส่วนของธุรกิจโรงแรม เห็นชัดเจนว่า โรงแรมในต่างประเทศมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีกว่าโรงแรมในไทย ทำให้เชนไทยมีการขยายแบรนด์โรงแรมไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่มองถึงการปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องประคองธุรกิจให้ไปต่อได้

 

อย่าง “ไมเนอร์” ที่ผ่านมาก็มีการเพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นกู้ในประเทศกว่า 1 หมื่นล้านบาท การออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ก็ได้ออกหุ้นกู้ 400 ล้านยูโร รวมถึงการขายโรงแรม 2 แห่งในเครือเอ็นเอชโฮเทล กรุ๊ป ที่สเปนและโปรตุเกส ล่ากลับมาบริหารต่อ

 

ส่วนเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท “SHR” ก็ขายโรงแรมในสหราชอาณาจักรออกไป 1 แห่งและอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะขายเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 5 แห่งเพื่อนำเงินไปลงทุนพัฒนาและปรับปรุงโรงแรมชั้นนำของบริษัท และการกำไรของพอร์ตโฟลิโอ

 

ขณะที่ “บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา” หรือ CENTEL เองก็มีแผนจัดเตรียมวงเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สามารถเบิกถอนได้ราว 8,300 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราภายใต้ความผันผวนของธุรกิจถึงไตรมาส 4 ปี 2565 และการลงทุนต่างๆ ตามแผนที่วางไว้

ด้าน “ดุสิตธานี” ก็เน้นการปรับโครงสร้างทรัพย์สิน เพื่อรักษาสภาพคล่องและควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อรับมือผลกระทบระยะยาวจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นการขายเงินลงทุนในบริษัทหรือการขายสินทรัยพ์เพื่อทำกำไร อาทิการขายโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่ที่จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 และรับบริหารต่อ 15 ปีภายใต้แบรนด์ดุสิตธานี การออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่จำนวน 1,000 ล้านบาท

บิ๊กธุรกิจโรงแรม-สายการบิน เปิดแนวรุกบริหารความเสี่ยงฝ่าโควิด

 

แม้จะผ่านโควิดมา 1 ปีครึ่งแต่ธุรกิจรายใหญ่ก็ยังคงประคองตัวไปได้ จากการบริหารความเสี่ยงที่มีความเข้มแข็งที่เกิดขึ้น

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564