การประกาศมาตรการคลายล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัดของศบค. ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 ส.ค. 2564 ที่ให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้ โดยร้านอาหารที่อยู่นอกอาคารหรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ โล่ง อากาศถ่ายเทดี ให้นั่งรับประทานได้ 75% และร้านอาหารที่เป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานได้ 50%
โดยผู้ประกอกการต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป ภายใต้ข้อปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของมาตรการองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่โรค ด้วยแนวทาง COVID-FREE Setting ซึ่งประกอบไปด้วย
COVID-FREE Environment : ระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาดปลอดภัย เว้นระยะห่าง
COVID-FREE Personnel : วัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
COVID-FREE Customer : Green Card (วัคซีนตามเกณฑ์) Yellow Card (เคยติดเชื้อหรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน)
ขณะที่แนวปฏิบัติของผู้บริโภค จะต้องปรับพฤติกรรมในการป้องกันโรคส่วนบุคคลด้วย Universal Prevention for COVID-19 หรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล โดยทุกคนต้องเฝ้าระวังตนเองขั้นสูงสุด เป็นการส่งสัญญาณให้ธุรกิจร้านอาหารเตรียมความพร้อม แม้จะไม่ใช่การกลับมาเปิดอีกครั้งได้เต็ม 100%
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ของศบค. ในช่วงที่ผ่านมา และตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 1 ปี ยังไม่ได้รับมาตรการเยียวยาใดๆ ที่เป็นรูปธรรม
“การคลายล็อกดาวน์ให้ร้านอาหารกลับมาเปิดได้อีกครั้งหลังจากที่ปิดไปเป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือน เชื่อว่าจะมีร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการไม่ถึง 50% ด้วยเงื่อนไขที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ซึ่งปัจจุบันพบว่า พนักงานร้านอาหารส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมีน้อยมาก
ขณะเดียวกันพนักงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด จึงยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่มพนักงานต่างด้าว ซึ่งเป็นแรงงานที่สำคัญกลุ่มหนึ่งและพบว่าปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 30% ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งที่กลุ่มเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและมาทดแทนแรงงานไทยได้
นอกจากนี้มาตรการการตรวจเชื้อด้วย ATK ในทุกสัปดาห์ล้วนทำให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อสัปดาห์ กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเปิดให้บริการเพียง 50% กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาอาจจะไม่ถึง 50% รายได้ที่เกิดอาจจะไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป
วันนี้ต้องถามว่า ประชาชนเองฉีดวัคซีนได้ 70-80% หรือยัง ความปลอดภัยในการออกมาใช้ชีวิตข้างนอก การจะเดินหน้าให้เศรษฐกิจไปต่อ รัฐบาลมีแผนงานอย่างไร การจะกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หากนำไปใช้ในมาตรการเยียวยาก็จะจมหาย หากจะนำมาใช้ในมาตรการฟื้นฟู มีแผนงานอย่างไร
ทุกวันนี้ธุรกิจในภาคบริการ ที่เป็นด่านหน้าต้องพบปะผู้คนทั้งร้านอาหารและแรงงาน ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม การคลายล็อกให้กลับมาเปิดได้ในวันที่ 1 ก.ย. หรือจะเปิดประเทศในวันที่ 1 ต.ค นี้ ถามว่าคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนตามแผนที่วางไว้หรือไม่ คนไทยจะมีภูมิต้านทานหมูได้หรือไม่
ไม่ว่าจะวันนี้หรือไตรมาส 4 ยังไม่เห็นสัญญาณบวกที่จะมาช่วยผลักดันให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้ แม้ในไตรมาส 2 หลายธุรกิจยังมีการเติบโต แต่สำหรับธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักและไตรมาส 3 จะเรียกว่าเป็นการเผาจริง ก็ได้ ส่วนในไตรมาส 4 คงยังไม่ฟื้น เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ประชาชนไม่มีกระแสเงินสด กำลังซื้อน้อย กว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นได้คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี