การนำร่องเปิดประเทศภายใน 120 วัน ขณะนี้ดำเนินการได้แล้วใน 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ผ่าน 3 โมเดล คือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัส และ 7+7 เชื่อมภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น และกำลังจะทยอยเกิดขึ้นในอีกบางพื้นที่ในเดือนต.ค.นี้ เป็นเพียงแค่หยดน้ำเพื่อสะสมให้เป็นแอ่งน้ำพอจะต่อลมหายใจได้บ้างของธุรกิจบางรายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ภาพรวมของในแต่ละจังหวัดหรือทั้งประเทศก็ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ
การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติท่ามกลางโควิด-19 โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีสายพันธุ์เดลต้า เป็นหัวเชื้อหลัก การควบคุมการแพร่ระบาดจึงไม่เพียงยากกว่าเดิม แต่ยังทำให้การเปิดเมืองเพื่อรับนักท่องเที่ยวก็ลำบากขึ้น เพราะไหนจะมีเรื่องการกระจายวัคซีนในพื้นที่ต้องเกิน 70% และการคุมการติดเชื้อในพื้นที่ บางพื้นที่ก็ล่าช้า อย่างพัทยา เชียงใหม่ ที่เดิมวางแผนจะเปิดในเดือนก.ย.ก็ทำไม่ได้ต้องเลื่อนออกไปเป็นต.ค.นี้
รวมไปถึงตัวแปรของความพร้อมของแต่ละพื้นที่ในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนออกมาจากโมเดลการรับนักท่องเที่ยวภายใต้การควบคุมการแพร่ระบาดที่ก็จะแตกต่างกัน เป็นความต้องการของพื้นที่โดยตรง และดูจากหลายโมเดลแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าแม้จะเปิดมาก็ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ตามแผน
เนื่องจากประเด็นหลักที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวคือมาแล้วไม่ต้องกักตัว ซึ่งก็มีเพียงโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์,7+7 ภูเก็ตเชื่อมพื้นที่นำร่องอื่นๆ และหัวหินรีชาร์จเท่านั้น ที่วางโมเดลไม่ต้องกักตัว แต่สมุยพลัส เชียงใหม่ ชาร์มมิ่งและ พัทยามูฟออน มีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร (ตารางประกอบ) ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวเช่นกัน
โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่ระบุชัดเจนว่าในพื้นที่ 4 อำเภอที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว คือ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า จะเดินทางเข้ามาเที่ยวได้โดยผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น เสนอขาย 9 แพ็กเกจ อาทิ กอล์ฟ ทั้งยังประมาณการณ์ว่าหากมีนักท่องเที่ยว 90 คนต่อ 1 เที่ยวบินใน1วัน กลุ่มนี้สร้างรายได้ให้เชียงใหม่ 3.3 ล้านบาท หากมี 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะมีนักท่องเที่ยว 360 คนสร้างรายได้ 13.22 ล้านบาท และใน 1 เดือนจะมีนักท่องเที่ยว 1,440 คน สร้างรายได้52.9 ล้านบาทต่อเดือน หากมี 2 เที่ยวบินต่อวัน จะมีนักท่องเที่ยว 2,880 คนต่อเดือนสร้างรายได้ 105 ล้านบาทต่อเดือน และหากมี 3 เที่ยวบินต่อวันจะมีนักท่องเที่ยว 4,320 คนต่อเดือน สร้างรายได้ 158 ล้านบาทต่อเดือน
อีกประเด็นคือการเจาะกลุ่มเป้าหมายของบางโมเดล ที่ยังคงมองนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จากการไปยึดโยงฐานเดิมก่อนเกิดโควิดที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในพื้นที่มากที่สุด รวมถึงนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ ซึ่งในความเป็นจริงรัฐบาลจีนยังไม่มีแนวโน้มจะอนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศเลย ที่หลายคนพอจะหวังได้ก็ต้องไปว่ากันกลางปีหน้าเลย
ทั้งนี้นับจากรัฐบาลจีนจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ นักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นตลาดหลักของไทยโดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งและเจ้อเจียง ทำให้คนจีนเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในหมู่เกาะไหหลำ และมาเก๊า ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 64 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเที่ยวมาเก๊าและพำนัก 3-5 คืน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด สูงถึง 32% เมื่อเทียบกับปี 62 การที่หลายโมเดลการเปิดประเทศของไทยยังโฟกัสไปที่ตลาดจีนเป็นหลัก จึงเป็นไปไม่ได้ในทางการตลาด
ดังนั้นตลาดที่พอจะมีการเดินทางจึงกลายเป็นตลาดระยะไกลเป็นส่วนใหญ่ แต่ไทยก็มีคู่แข่ง เพราะวันนี้นักท่องเที่ยวยุโรป นิยมเดินทางไปเที่ยว Ibiza ของสเปนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่จัดให้เมืองแห่งนี้ จัดอยู่ในประเทศสีเขียวตามนโยบาย Travel Traffic Light ส่งผลให้ยอดจองเที่ยวบินไปเมืองแห่งนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก สวนทางกับไทยที่หลายประเทศในยุโรปยกระดับการเตือนมาเที่ยวไทย
การทำตลาดท่ามกลางการติดเชื้อภายในประเทศของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นจึงเป็นความท้าทาย ซึ่งวันนี้มีเพียงภูเก็ตโมเดลเท่านั้น ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเปิดประเทศของไทย ดังนั้นในระหว่างที่โมเดลในพื้นที่อื่นๆยังต้องใช้เวลาในการสร้างตลาดพอสมควร การขยาย 7+7 ภูเก็ตไปยังพื้นที่นำร่องอื่นที่ดำเนินการไปแล้วใน 3 พื้นที่ โอกาสที่จะต่อจิ๊กซอร์ 7+7 ภูเก็ตขยายไปยังเชียงใหม่ หรือพัทยา ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิด นอกเหนือจากโมเดลการเปิดเมืองของในแต่ละพื้นที่
เพราะการเปิดเมืองก็ยังพอให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะอย่างน้อยก็มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดีกว่าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์มาอย่างยาวนานโดยที่ยังไม่เห็นแสง
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564