“แม็คโคร-โลตัสส์” บุกค้าปลีกโลก ความท้าทายใหม่ "ซีพี"

03 ก.ย. 2564 | 05:54 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2564 | 12:08 น.

“ซีพี” จัดทัพค้าปลีก ส่ง “แม็คโคร-โลตัสส์” ปูพรมพิชิตตลาดอาเซียน.-เอเชีย ชี้ “ถ้าไม่ใหญ่พอ ไม่สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่บนเวทีโลกได้”

การประกาศโอนกิจการของ “ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง” (CPRH) บริษัทที่เครือซีพี ใช้เข้าซื้อกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” ก่อนที่จะนำมารีแบรนด์เผยโฉมและชื่อใหม่ “โลตัสส์” (Lotus’s)  ให้กับ “สยามแม็คโคร” (MAKRO)

 

จนเป็นเหตุให้ “โลตัสส์” ต้องโยกไปอยู่อันเดอร์ “สยามแม็คโคร” แม้จะยังอยู่ในเครือซีพีเช่นเดิม แต่อาจจะสร้างความประหลาดใจให้หลายคนไม่น้อย และเป็นที่มาของคำถามว่า

 

  • การโอนกิจการครั้งนี้ ผิดเงื่อนไขของผู้คุมกฎอย่าง “กขค.” (คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า) ที่ตั้งไว้ในข้อแรกคือ ห้ามธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี (ไม่รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ) หรือไม่

 

  • เมื่อโอนแล้วเข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาด และผูกขาดตลาดค้าปลีกเมืองไทยหรือไม่

 

  • ทำไม “ซีพี” ไม่ใช้ “สยามแม็คโคร” เข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งที่เชื่อว่าสยามแม็คโครมีเพาวเวอร์มากพอ และยังลดข้อครหาว่ากินรวบธุรกิจค้าปลีกอีกด้วย

“แม็คโคร-โลตัสส์” บุกค้าปลีกโลก  ความท้าทายใหม่  \"ซีพี\"

คำถามเหล่านี้ หากไม่มองถึงประเด็นเรื่อง CPALL , CPF และ CP ที่ลงขันกันซื้อในสัดส่วน 40:40:20  จะต้องแบกหนี้ก้อนใหญ่   ก็ต้องมองถึง “กำไร” ที่จะได้จากเทสโก้ โลตัสที่ไม่ต่ำกว่า ปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท ผนวกเหตุผลที่เคยเป็น “ลูกรัก” ของเจ้าสัวธนินท์  เจียรวนนท์ ที่ยอมเฉือนทิ้งไปในภาวะวิกฤตของเครือ เพื่อรักษาเลือดก้อนใหญ่ 

 

แต่จังหวะการซื้อ เหมือนโชคไม่เข้าข้าง เพราะตั้งแต่ผลการซื้อขายสำเร็จลุล่วง “เทสโก้ โลตัส” (รวมถึงซีพีและธุรกิจทั่วไทย) ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดอย่างหนักหนาสาหัสยาวนานกว่า 1 ปี ผลการดำเนินการจึงไม่เป็นไปตามคาดหวัง โดยพบว่าโลตัสส์ มียอดขายลดลง 8,364 ล้านบาท จาก 171,326 ล้านบาทในปี 2563 เหลือเพียง 162,962 ล้านบาทในปี 2564 (สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2564) อย่าถามหาตัวเลข “กำไร” ที่เคยวาดฝันไว้

 

หนี้เก่าก็แบกกันหลังแอ่น หนี้ใหม่ก็ท่วม

 

เห็นได้จากสิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ละบริษัทในเครือซีพีมีมูลค่าหนี้ก้อนโต ไม่ว่าจะเป็น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีมูลค่าหนี้สิน 96,508 ล้านบาท ซีพีเอฟ 509,450 ล้านบาท ซีพีออลล์ 404,400 ล้านบาท ส่วน แม็คโครก็ใช่ย่อย เพราะมีหนี้กว่า 47,274 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จมีหนี้สินกว่า 1 ล้านล้านบาท

ศุภชัย เจียรวนนท์

การโยกหนี้ให้ “แม็คโคร” ทำให้หลายบริษัทตัวเบา แต่เพื่อป้องกันข้อกฎระเบียบต่างๆ ซีพีก็เลือกที่จะจัดการให้เพิ่มทุนจดทะเบียน “แม็คโคร” จาก 2,400 ล้านบาท เป็น 5,586 ล้านบาท พร้อมเปิดขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนทั่วไป เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของสยามแม็คโคร ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 15% จากเดิมที่มีอยู่เพียง 7% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของเครือซีพีลดลงเหลือ 85% จากเดิมที่มี 93%

 

ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลในการโอนกิจการครั้งนี้ว่า ต้องการขยายร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ซึ่งรวมถึงสยามแม็คโครและศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่นๆอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา รวม 337 ร้านค้า

“แม็คโคร-โลตัสส์” บุกค้าปลีกโลก  ความท้าทายใหม่  \"ซีพี\"

ดังนั้นสิ่งสำคัญในการที่จะเสริมให้ “ซีพี” แข็งแกร่งและแข่งขันนอกประเทศได้นั้น Scale หรือขนาดของธุรกิจ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก คือ ถ้าไม่ใหญ่พอ ไม่สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่บนเวทีโลกได้

 

ความใหญ่ ที่ต้องมาพร้อมเป้าหมายและเงินทุนที่เพียงพอ  ยังไม่นับรวมธุรกิจที่ถูกวางรากฐานอยู่ในหลายประเทศ ที่เครือซีพีปูพรมรออยู่แล้ว ทั้ง “ต้นน้ำ” และ “กลางน้ำ” เมื่อเติมภาคค้าปลีก หรือช่องทางจำหน่ายที่ถือเป็น “ปลายน้ำ”  ธุรกิจของเครือซีพี ก็วิ่งฉิว เพราะ “ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง” ก็เป็นเหมือนท่อที่จะนำสินค้าทะลวงออกไปหาผู้คน

 

“โมเดลของซีพีที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทย จะถูกยกไปใช้ในหลายประเทศ ซึ่งทุกวันนี้เครือซีพี มีทั้งธุรกิจต้นน้ำคือการผลิต และกลางน้ำคือการแปรรูป เหลือเพียง ปลายน้ำ ที่จะนำอย่างไรให้สินค้าไปสู่ผู้บริโภค”

 

ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า คู่แข่งในอาเซียนที่ครบวงจรเช่นเครือซีพี ไม่มี ส่วนใหญ่เป็นท่อนๆ เช่น ปลายน้ำก็จะเป็นร้านสะดวกซื้ออย่างเดียว คู่แข่งที่เป็นเชนทั้งระบบยังไม่มี

“แม็คโคร-โลตัสส์” บุกค้าปลีกโลก  ความท้าทายใหม่  \"ซีพี\"

“การปรับโครงสร้างครั้งนี้ พร้อมประกาศเดินหน้าธุรกิจค้าปลีก ถือเป็นมูฟเม้นท์ สำคัญของเครือซีพี ก้าวแรกในอาเซียน ก่อนขยายไปสู่เอเชีย โดยสเต็ปต่อไปมองว่า ซีพีจะขยายไปยังตะวันออกกลาง อินเดียและแอฟริกา ส่วนสเต็ป 3 จะมูฟไปโซนยุโรปและอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดที่ยากและท้าทายมาก”

 

ต่อคำถามที่ว่า นอกจากเรื่องของการบาลานซ์รายได้ กำไร และหนี้สินแล้ว การทำการบ้านของเครือซีพี ที่มองทะลุในตลาดค้าปลีกอาเซียน กับการเลือก “แม็คโคร” ให้ประกบ “โลตัสส์” นำพาธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพี ออกตะลุยอาเซียนและเอเชีย จากก่อนหน้านี้ที่สยามแม็คโคร ปักธงค้าส่งในหลายประเทศ รวมถึงแบรนด์ LOTS Wholesale Solutions ในประเทศอินเดีย

“แม็คโคร-โลตัสส์” บุกค้าปลีกโลก  ความท้าทายใหม่  \"ซีพี\"

“ดร.อัทธ์” ให้เหตุผลว่า การเข้าไปลงทุนเกือบทุกประเทศในอาเซียน รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีน ซึ่งการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน ไม่ใช่เพียงการผลิต แต่ยังทำซีเอสอาร์ ช่วยชุมชน สร้างงาน ยกระดับชุมชนให้แข็งแรง เป็นที่ยอมรับ

 

หลายประเทศ เช่น เวียดนาม  ร้านค้าห้องแถวหรือโชห่วยในบ้านเรา เป็นที่นิยม ดังนั้นจะนำร้านสะดวกซื้อไปลงทุน อาจไม่ตอบโจทย์ การจะลงทุนต้องเป็นห้างขนาดใหญ่ ที่มีสินค้าหลากหลาย ส่วนในมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย มีแบรนด์ร้านสะดวกซื้อที่แข็งแรง และจำนวนมาก ถ้าไปลุยร้านสะดวกซื้อในเวลานี้ จะหาพื้นที่หรือทำเลลำบาก

 

“การเลือกขยาย “แม็คโคร” ในต่างประเทศ เพราะมีสินค้าหลากหลายกว่า บวกกับสินค้าที่ผลิตได้โรงงานของซีพี สินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในประเทศนั้นๆ ย่อมสร้างความได้เปรียบ”

 

ด้วยศักยภาพของเครือซีพี โอกาสในการเติบโตและครองตลาดในอาเซียนได้ภายใน 2-3 ปีและภายใน 5 ปีก็มีโอกาสที่จะครองตลาดเอเชีย

 

สอดรับกับ “ศุภชัย” ที่กล่าวถึงเป้าหมายของซีพีว่า ต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกของเราทั่วโลกทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SME ไทยนับหมื่นๆ ราย ให้สามารถนำผลผลิตและสินค้าไปขายในต่างประเทศ...

 

แม้วันนี้ “เครือซีพี” ก้าวเดินอย่างแข็งแกร่งในหลายธุรกิจ แต่บนเวทีค้าปลีกโลกยังท้าทายและรอการพิสูจน์ต่อไปว่า “ไม่ได้เก่งเฉพาะในบ้าน”