หลังจาก “แสนสิริ” ก้าวสู่ธุรกิจโรงแรมเมื่อพ.ย.ปี 2560 ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 35% ในสแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล จากสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 1,900 ล้านบาทในเวลานั้น จากนั้นได้ซื้อหุ้นเพิ่มจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 62% แม้ธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่กลุ่มสแตนดาร์ด ยังคงขยายโรงแรมเพิ่มเป็น 35 แห่งภายใน 5 ปีนี้
“อมาร์ ลัลวานี่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ปัจจุบันสแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล มีโรงแรมทั้งหมด 17 แห่ง ภายใต้ 3 แบรนด์บริหารโรงแรม คือ เดอะสแตนดาร์ด, บังค์เฮ้าส์ และเดอะ เภรี ซึ่งจุดเด่นของเดอะสแตนดาร์ดจะเป็นแบรนด์ที่ทรงพลังในธุรกิจบูทีคโฮเทล ที่มีความเป็นเอกลักษณ์มีวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะ แฟชั่น ดนตรีและไนท์ไลฟ์ ซึ่งเราไม่เคยหยุดนิ่งในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกและชุมชนที่อยู่รอบโรงแรม ส่วนแบรนด์บังค์เฮ้าส์ จะเป็นโรงแรมขนาดเล็กลงมาเน้นเมืองรอง และเดอะ เภรี เป็นโรงแรมไซด์เล็กซึ่งเป็นโรงแรมที่มีอยู่แล้วและมีศักยภาพที่เมื่อปรับปรุงและบริหารก็จะไปได้ดี
โดยรายได้ของธุรกิจกว่า 80% อยู่ในสหรัฐอเมริกาอีก 20% อยู่นอกสหรัฐฯ แม้โควิดจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในวงกว้างแต่พอร์ตโฟลิโอของเรา ก็ยังสูงกว่าระดับคาดการณ์สูงสุดที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้กว่า 20% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสหรัฐฯมีการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่ และข้อจำกัดการเดินทางที่ไม่เคร่งครัด ทำให้โรงแรมในนิวยอร์คมีการเติบโตที่ดี แม้จะยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด โรงแรมในไมอามีเติบโตใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดแล้ว ส่วนโรงแรมที่ลอนดอน มัลดีฟส์ ยังมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังห่างไกลจากก่อนเกิดโควิด เนื่องจากผลกระทบของข้อจำกัดด้านการเดินทาง
ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดในปี2564 ของเดอะสแตนดาร์ดในสหรัฐฯ อยู่ที่ 134 RGI (ค่าเฉลี่ยดัชนีการสร้างรายได้เมื่อเทียบกับโรงแรมคู่แข่งในระดับเดียวกัน) สูงกว่าปี 2563 ที่อยู่ที่ 122 RGI รวมถึงยอดจองที่เติบโตจาก 45% ก่อนโควิดมาอยู่ที่ 58% สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่ทำให้เรารอดได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายเรื่องการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าและข้อจำกัดการเดินทางที่แตกต่างกันไปทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ได้ยากมาก การเดินทางเพื่อพักผ่อนฟื้นตัวขึ้น แต่การเดินทางเพื่อธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว และแรงงานขาดแคลนเป็นปัญหาสำคัญในสหรัฐฯ เพราะคนทำงานในภาคธุรกิจโรงแรมกว่า 9.61 แสนคนตกงาน (47% ของทั้งหมด) ระหว่างเดือนมี.ค. 2563-พ.ค. 2564 และหลายคนยังไม่ได้กลับมาทำงาน
แม้จะมีความท้าทายมากมายแต่เรายังรักษาความสามารถในการทำกำไรและเติบโตต่อไปได้ โดยเรามีแผนจะพัฒนาโรงแรมเพิ่มจาก 17 แห่งในปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 35 แห่งทั่วโลกภายใน5ปีข้างหน้านี้ ที่จะทำให้เราเป็นหนึ่งในแบรนด์ไลฟ์สไตล์อิสระชั้นนำ ซึ่งคู่แข่งของเราส่วนใหญ่ไม่มีผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งอย่างแสนสิริ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เราสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ในโครงการใหม่ๆในการขยายการรับบริหารโรงแรม
โดยโรงแรมแบรนด์เดอะสแตนดาร์ด เรามีแผนจะขยายโรงแรมเพิ่ม 4 เท่าตัวทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้มีที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2564-2568 ทั้งหมด9แห่งรวมห้องพักกว่า1,828 ห้อง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เดอะสแตนดาร์ด เปิดให้บริการในไทย โดยจะเปิดโรงแรมเดอะสแตนดาร์ด หัวหินในเดือนธ.ค.นี้ และโรงแรมเดอะสแตนดาร์ด กรุงเทพฯ มหานคร ต้นปี 65 ที่จะเป็นโรงแรมแฟล็กชิพในเอเชียของเดอะสแตนดาร์ด ซึ่งกรุงเทพฯเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆของนักลงทุนทั่วโลก ส่วนหัวหินก็จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กักตัว
“เป้าหมายของกลุ่มสแตนดาร์ด คือจะเน้นการขยายธุรกิจโรงแรมนอกสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงแรมจากนอกสหรัฐฯจากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ให้เพิ่มขึ้นเป็น 80% ในช่วง 10 ปีนี้ ส่วนโรงแรมของกลุ่มสแตนดาร์ดทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นการรับบริหารโรงแรมทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงแรมที่แสนสิริเป็นเจ้าของอยู่ 3 แห่ง คือ โรงแรมเดอะสแตนดาร์ด หัวหิน, โรงแรมเดอะเภรี เขาใหญ่ และเดอะเภรี หัวหิน”
โควิดอาจทำให้หลายภาคธุรกิจต้องพลิกโฉมไป แต่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ที่ดิจิตอลแทนที่ไม่ได้ คนต้องออกไปสัมผัสบรรยากาศและเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โรงแรมก็จึงมีแนวโน้มกลับมาถ้าสถานการณ์เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าประชากรมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวก็จะตามมา
อนึ่งปัจจุบันสัดส่วนผู้ถือหุ้นใน Standard International มีทั้งหมด 4 กลุ่ม 1 .แสนสิริ ถือหุ้น 62% 2. กลุ่ม SEAM โดยมี Mr. Seth Cohen and Mr. Amar Lalvani เป็นเจ้าของ 3. กลุ่ม SIIG โดยมี Mr. David Heller and Mr. David Barry เป็นเจ้าของ และ4. กลุ่ม Standard Mendelson: กองทุนที่บริหารงานโดย Clifford Mendelson
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,713 วันที่ 12 - 15 กันยายน พ.ศ. 2564