สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) ได้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย ภายหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย พบว่าระหว่างปี 2557-2562 กิจการโทรทัศน์ ในระบบดิจิตอลสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 39,691 ล้านบาท หรือกว่า 111,098 ล้านบาทตลอดช่วงระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี
นอกจากนี้ มูลค่าเพิ่มที่สร้างขึ้นในช่วงระยะ 6 ปี ระหว่างการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกและการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี)ภายในประเทศขยายตัว 0.32%คิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7 พันล้านบาท และตลอดใบอนุญาต 15 ปี ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นกว่า 1.17 แสนล้านบาท หรือ 0.9% ของจีดีพี
ในขณะที่ระยะ 5 ปีข้างหน้าผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล จะเผชิญกับความท้าทายด้านเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology จากผลการสำรวจพบว่า พฤติกรรมกการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินจะมีแนวโน้มลดลง 11-21% และจะส่งผลให้ผลผลิตในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ลดลง 0.75-1.43% มีผลต่อจีดีพีของประเทศลดลง 0.005-0.009% คิดเป็นมูลค่า 801-1,529 ล้านบาท
ทั้งนี้ Disruption ทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มูลค่าค่าโฆษณาในสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนของโฆษณาสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 6.5% ของมูลค่าโฆษณาทั้งหมด และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 544% ระหว่างปี 2558-2563 จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลนำเสนอคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น
ขณะที่มูลค่าโฆษณา Online Media เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากปี 2558 อยู่ที่ 1,085 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 6,815 ล้านบาท ขณะที่โฆษณา TV ภาคพื้นดินจากปี 2558 อยู่ที่ 7.83 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 6.16 หมื่นล้านบาทในปี 2563
ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูก Disrupt จาก Online อย่างหนักหน่วง จากปี 2558 มูลค่าโฆษณาเคยอยู่ที่ 1.65 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3,833 ล้านบาท ในปี 2563
ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลิตภาพของธุรกิจโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลว่า ในปี 2563 มีผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอลทั้งหมดเพียง 19 ช่อง และไม่เหลือช่องที่อยู่ใน หมวดหมู่ เด็ก เยาวชน และ ครอบครัวเลย
ซึ่งที่ผ่านมาแม้หลายช่องจะมีแนวโน้มของผลิตภาพสูงขึ้น แต่มีเพียง 7 ช่องที่มีผลิตภาพผ่านจุดคุ้มทุนมาได้ เนื่องจากมีจุดเด่นของช่องไม่ว่าจะเป็น ละครไทย (ช่อง 7HD กลุ่มช่อง 3 ช่อง 8 และช่อง One) ซีรีส์ต่างประเทศ (ช่องโมโน 29 และ ช่อง 8) และวาไรตี้/เกมโชว์ (ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี)
ขณะที่ช่องอื่นๆ ผลประกอบการอาจไม่ดีเท่าที่ควร มีสาเหตุมาจาก รายการประเภทเดียวกับที่ถ่ายทอดผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมีความน่าสนใจกว่า และผู้รับชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการรับชมแบบ on-demand และย้อนหลังซึ่งจะมีอายุต่ำกว่า 42 ปี โดยรับชมผ่านโทรศัพท์มือ
รศ.ดร.ชนินทร์ มีโภคี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการใช้แบบจําลองทางเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อ พบว่า การรับชมรายการข่าวและรายการสารคดีมีผลทางบวกต่อรายได้ครัวเรือน ขณะที่จำนวนชั่วโมงในการดูโทรทัศน์ที่สูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนลดลง เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาดังกล่าว ในอนาคตอาจจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลลดลงไปอีก ขณะเดียวกันจะมีการแข่งขันจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการเสียงและภาพผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น