การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาสที่ 3/2564 อยู่ที่ระดับ 7 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 4/2564 อยู่ที่ระดับ 29 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้มาก แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาส 4/2564 กรุงเทพมหานครสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีกว่าภูมิภาคอื่น ส่วนภาคตะวันตกเป็นภูมิภาคที่มีตัวเลขความเชื่อมั่นต่ำที่สุด
จากการสำรวจสถานภาพการประกอบการในไตรมาสนี้ พบว่าเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังเปิดให้บริการเพียงร้อยละ 51 ลดลงจากไตรมาส 2 ร้อยละ 7 โดยเป็นการปิดกิจการชั่วคราวร้อยละ 44 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และปิดกิจการถาวรร้อยละ 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และพบว่าร้อยละ 84 ของสถานประกอบการมีพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
โดยมีแรงงานที่ออกจากระบบไปมากถึง ร้อยละ 71 หรือ ประมาณ 3,053,000 คน และร้อยละ 54 ของสถานประกอบการระบุว่าไม่มีรายได้เข้ามาเลย โดยสถานบันเทิง ร้อยละ 100 สวนสนุกและธีมพาร์ค ร้อยละ 94 บริษัทนำเที่ยว ร้อยละ 93 ธุรกิจนวดและสปา ร้อยละ 86 ธุรกิจบริการขนส่งนักท่องเที่ยว ร้อยละ 68 ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ในไตรมาสนี้ธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยว ธุรกิจที่พักแรม และร้านขายของฝากของที่ระลึก มีรายได้ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2
เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากโครงการ“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”และ“สมุยพลัสโมเดล” นอกจากนี้พบว่า ธุรกิจโรงแรม/ที่พัก เปิดให้บริการประมาณร้อยละ 82 โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยประมาณร้อยละ 18 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโครงการ“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่เปิดมาประมาณ 3 เดือนนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์ คือ เป็นการประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า ไทยเราเป็นผู้นำของโลกในด้านการท่องเที่ยว สามารถเป็นต้นแบบในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยตามมาตรการสุขอนามัยที่ดี ซึ่งต้องขอขอบคุณวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสำหรับแผนการเปิดประเทศ 120 วัน ที่ดำเนินการมาได้ด้วยดี และมีการพบผู้ติดเชื้อในโครงการ Sandbox ต่ำมากๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาเจาะลึกในด้านอื่นๆพบว่า เรายังไม่สามารถขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา เงื่อนไขในการเข้าประเทศยังไม่เอื้อกับการเดินทางท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวยังมีความสับสนในเรื่องของเกณฑ์และรูปแบบที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ โดยได้เสนอทุกพื้นที่ใช้ SOP เดียวกันและให้ใช้ชื่อ “แซนด์บอกซ์” ต่อท้ายเหมือนกันเหมือนกันกับทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้เป็น Signle Message ที่ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ โดยที่ผ่านมาทาง สทท. ได้ผลักดันให้มีการลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และลดการตรวจโควิด-19 เหลือ 2 ครั้ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากท่านรัฐมนตรีและ ศบค. ลำดับต่อไป จะเป็นการพิจารณาว่าทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เช่น การปรับกระบวนการของการขอ COE การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกันให้เป็น Single Platform และที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนแคมเปญแรงๆ เพื่อดึงดูดและกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยในขณะนี้ ภาคเอกชนต่าง ๆ มีความพร้อมมาก ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทั้งในด้านการเตรียมผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน SHA เพื่อความมั่นใจด้านสุขอนามัย การเตรียมบุคลากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว การเตรียมแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ ดังนั้น หากภาครัฐมีการปลดล๊อคเงื่อนไขต่างๆ และมีการออกแคมเปญดีๆ ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน
นางสมทรง สัจจาภิมุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าอินเดียเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก เนื่องจากอินเดียมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ (Outbound) เฉลี่ยที่ปีละ 10-11% ซึ่งในปี 2562 อินเดียเดินทางเข้ามาประเทศไทยราว 1.96 ล้านคน ซึ่งขยายตัวขึ้นราว 26% และอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวสูง และเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่
เช่น ตลาดเวดดิ้งและฮันนีมูน, เฮลท์แอนด์เวลเนส เป็นต้น และแม้ปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อินเดียก็ยังเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ยังเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันประเทศอินเดียกำลังมีอัตราการติดเชื้อลดลงอย่างมาก และน่าจะมีความพร้อมในการเดินทางในไตรมาส 4 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศของไทย หากไทยเรามีการวางกลยุทธให้เหมาะสม กลุ่มตลาดอินเดียจะเป็นตลาดที่น่าสนใจและจะทำเงินให้กับประเทศไทยไม่แพ้นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนได้
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่าในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดรายได้ไปกว่า 18 เดือน และต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือ ลดขนาดกิจการลงไปมากกว่า 50% จึงขาดความพร้อมในการกลับมาเปิดกิจการเพื่อรับนักท่องเที่ยวใหม่ โดยจากการสำรวจ พบว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีความต้องการในการรับการสนับสนุนจากภาครัฐใน 4 ด้านหลัก คือ
1 . 42% ต้องการโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการกลับมาเปิดกิจการ (Restart Budget )
2. 30% ต้องการโครงการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท
3. 20% ต้องการ โครงการ Copay หรือ การให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนพนักงาน 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่วันเริ่มกลับมาเปิดกิจการ
4. 8% ต้องการ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษี และค่าจดทะเบียนต่างๆ เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับจากวันเริ่มกลับมาเปิดกิจการ
โดยในแต่ละธุรกิจนั้นก็ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต่างกันไป โดยธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่กว่า 60% ต้องการ Copay ธุรกิจภาคขนส่งกว่า 62% ต้องการกองทุนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ภาคธุรกิจอาหาร 65% ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่จะนำเงินมาลงทุนในการ Restart ธุรกิจและเป็นเงินสำรองหมุนเวียนในกิจการ
ด้านนายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาด Domestic หรือการท่องเที่ยวภายในประเทศ ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน
เนื่องจากการเปิดประเทศในไตรมาส 4 นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่มากนัก หากไม่มีนโยส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศ จำนวนผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก ดังนั้นแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ทัวร์เที่ยวไทยและเราเที่ยวด้วยกันเฟส3 ถือว่าออกมาได้ถูกจังหวะ และจะเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะทำให้ในไตรมาสที่ 4 ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดี
นอกจากนี้ สทท. ได้ทำงานร่วมกับ ททท. อย่างใกล้ชิด ในการวางแผนระยะยาว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ต่อเนื่องจนถึง ไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 เช่น การออกแคมเปญเที่ยวคนละครึ่ง เป็นต้น