"นกแอร์"เฮศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว

29 ก.ย. 2564 | 12:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 19:20 น.

"นกแอร์ " เฮ "ศาลล้มละลายกลาง"มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ตั้ง 4 ผู้บริหารแผนฟื้นฟู มั่นใจนกแอร์ก้าวใหม่ สร้างความมั่นใจมากกว่าเดิม

ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 และต่อมาแผนและคำร้องขอแก้ไขแผนได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นั้น

 

\"นกแอร์\"เฮศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว

 

ในวันนี้ (29 กันยายน 2564) เป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและคำร้องขอแก้ไขแผน รวมถึงคำคัดค้านแผน คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่างๆแล้ว บริษัทมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและคำร้องขอแก้ไขแผนตามมติจากที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ซึ่งจะมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแผน

โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ตลอดจนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป ผู้บริหารแผน ที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการ

1. นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร

2. นายไต้ ชอง อี

3. นายปริญญา ไววัฒนา

4. นายชวลิต อัตถศาสตร์

 

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณ เจ้าหนี้ทุกท่านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่ให้การสนับสนุนและเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟูกิจการ ทางบริษัทเชื่อมั่นว่าผู้บริหารแผนจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จโดยเร็ว

 

สำหรับการดำเนินงานหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการบริหารและการจัดการเที่ยวบิน การคืนเงินค่าบัตรโดยสารแก่เจ้าหนี้ เป็นต้น บริษัทตระหนักถึงความคิดเห็นของผู้โดยสารทุกท่านมาโดยตลอด และมิได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานเร่งด่วน ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้มาตรการการควบคุมการเดินทางของผู้โดยสารเข้าออกแต่ละจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งทำให้สายการบินต้องมีการปรับเปลี่ยน รวมถึงเพิ่มและยกเลิกเที่ยวบินให้เหมาะสมกับเวลาเปิดให้บริการของสนามบินต้นทางและปลายทาง นอกจากนี้ บริษัทสามารถใช้วงเงินกู้ที่เหลืออยู่จากผู้ถือหุ้นเพื่อเสริมสภาพคล่องต่อไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่สามารถใช้วงเงินกู้ที่เหลืออยู่ได้ เนื่องจากช่วงการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้นบริษัทไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ และในวันนี้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทำให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจเต็มในการเข้าทำสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบิน ไม่ว่าจะเป็น สัญญาการซ่อมบำรุงเครื่องบิน สัญญาการบริหารอะไหล่เครื่องบินเพื่อลดระยะเวลาการซ่อมบำรุง และการที่บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงิน ฝ่ายบริหารจะปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารจัดการเที่ยวบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถลดปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินลงได้
  • จำนวนผู้โดยสารที่ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ จากมาตรการการควบคุมการเดินทางของภาครัฐ ทำให้มีผู้โดยสารติดต่อเข้ามายังคอลเซ็นเตอร์เป็นจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง ข้อมูลมาตรการของจังหวัดต่างๆ ส่งผลให้ผู้โดยสารบางส่วนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้ บริษัทมิได้นิ่งนอนใจ จึงทำการเพิ่มคู่สายและช่องทางการติดต่อผ่านทาง Facebook Messenger และอื่นๆรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์มาตรการการเดินทางเข้าออกของแต่ละจังหวัดให้กับผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง
  • การขยายเครือข่ายการบินและฝูงบิน ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการขออนุมัติในการนำเครื่องบินรุ่น Boeing 737-800 เข้ามาให้บริการเพิ่มเติมจำนวน 6 ลำ และเตรียมพร้อมเปิดเส้นทางใหม่สู่สนามบินนครราชสีมา อู่ตะเภา(ระยอง) หัวหิน(ประจวบคีรีขันธ์) และเบตง(ยะลา) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่จังหวัดที่ยังไม่มีเที่ยวบินแบบประจำให้บริการหรือมีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการอนุมัตินำเข้าเครื่องบินดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง