นายธนิสร บุญสูง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น สเปคตรัม กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบในหลายธุรกิจ แต่สำหรับกัญชา-กัญชงไม่ได้รับผลกระทบมากหนัก เพราะยังอยู่ในช่วงการเตรียม ecosystems และ supply chain แม้ว่าจะมีดีมานด์และการตลาดมากขึ้น แต่ยังไม่มีซัพพลายเนื่องจากความล่าช้าในเรื่องของใบอนุญาตต่างๆ
“หากจะมีโปรดักต์และทำให้ตลาดเกิดขึ้นจะต้องมี supply chain ต้องมีผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ผู้ปลูก ผู้สกัด ถึงจะมีสินค้าออกสู่ตลาด ในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่มีผู้สกัดเลยที่ได้รับอนุญาต ดังนั้นตลาดก็ zero supply ในช่วงปลายไตรมาส 4 อาจมีโปรดักต์ออกสู่ตลาดได้แต่ในปริมาณที่น้อยมาก คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดจริงได้ในราวไตรมาสแรกปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม เครื่องสำอางเพราะผู้ประกอบการมีการวิจัยและพัฒนาอยู่แล้ว และติดตามเรื่องของการขออนุญาตกับอย.มาระยะหนึ่ง”
สำหรับ ESG เป็นบริษัทแรกๆที่ได้รับอนุญาตจากอย. ในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาปลูก โดยแผนธุรกิจระยะสั้น ปีนี้บริษัทจะปลูกกัญชง 8 สายพันธฟุ์ (จากทั้งหมด 19 ที่บริษัทมีใบอนุญาตนำเข้า) บนพื้นที่ 200 ไร่ ที่จังหวัดราชบุรี ในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนต.ค และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนธ.ค. และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการอบแห้งและเข้าไปถึงกระบวนการสกัดได้ทันที เพื่อซัพพอร์ตสารสกัด CBD ให้กับลูกค้าในช่วงสิ้นเดือนม.ค. รวมทั้งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้ปลูกรายอื่นๆด้วย
“ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าที่ซื้อเฉพาะสารสกัด ลูกค้าต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาผลิตสินค้าในประเทศและที่ต้องการนำวัตถุดิบไปผลิตที่ต่างประเทศ แต่ตลาดหลักจะอยู่ในประเทศไทย และบริษัทยังจับมือกับผู้ผลิตยา,บริษัทเครื่องดื่ม,เครื่องสำอางทุกรูปแบบ โดยกำลังการผลิตของ 200 ไร่จะอยู่ที่ประมาณ 96,000 กิโลกรัมต่อปี และสามารถปลูกได้ 3-4 ครั้งต่อปีซึ่งเพียงพอต่อการซัพพอร์ต CBD ให้ลูกค้า”
สำหรับแผนระยะกลางและยาว บริษัทตั้งเป้าขยายการปลูกจำนวน 5,000 ไร่ ภายใน 3 ปี พร้อมขยายตลาดนอกเหนือจากสารสกัด โดยเน้นไปทางด้าน hemp innovation เพื่อนำส่วนอื่นๆของกัญชงมาทำให้เกิดมูลค่าที่สูงกว่า อาทิ เส้นใย นำไปทำเป็นไบโอพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้จะเน้นในส่วนของการผลิตคานาบินอยด์ของกัญชงมากขึ้นในช่วง5 ปีจากนี้
ทั้งนี้บริษัทยังมีแผนแบ่งผลผลิตจากพื้นที่การปลูก 200 ไร่จำนวน 5 -10 % เพื่อพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มศึกษาวิจัยในเรื่องของเครื่องสำอางและเครื่องดื่ม เพราะบริษัทมีความชำนาญในเรื่องของเครื่องดื่มในตลาดอเมริกาเป็นทุนเดิมซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในตลาดเมืองไทยได้
ส่วนตลาดต่างประเทศ การเติบโตจะอยู่ที่ฝั่งอเมริกา รวมไปถึงโซนยุโรปเช่น อิตาลี ซึ่งบริษัทมีพาร์ทเนอร์อยู่แล้ว ส่วนในเอเชียบริษัทมีการพูดคุยกับทางฝั่งเกาหลีใต้มาระยะหนึ่ง ที่มีความสนใจมากในเรื่องของเครื่องสำอาง CBD แต่มีอุปสรรคเรื่องของข้อกฎหมายที่เข้มงวดโดยปัจจุบันเกาหลีใต้มีเพียงบริษัทเดียวที่สามารถนำเข้ากัญชงได้ นอกจากนี้ยังมีพาร์ทเนอร์ในญี่ปุ่น ที่ให้ความสนใจในเรื่องของฟาร์มาซี ซึ่งอาจติดขัดในข้อกฎหมายการนำสารสกัดกัญชงจากส่วนต่างๆมาใช้
“พืชกัญชงนอกจากสารสกัดแล้วยังมีประโยชน์อีกหลายอย่างที่ทั้งโลกนี้อาจจะยังไม่ได้ค้นคว้าวิจัยออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ บริษัทเรามองว่าตัวกัญชงเองเป็นพืชที่มีค่อนข้าง disruptive อุตสาหกรรม เราจึงต้องการความถนัด ความสามารถและเทคโนโลยีที่เรามีเจาะในส่วนของแวลูทุกอย่างที่กัญชงสามารถทำได้”
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564