ผู้ว่าททท.เปิดใจว่าก่อนโควิด-19 ในปี2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.99 ล้านบาท และมีทั้งนักท่องต่างชาติอยู่ที่ 40 ล้านคน แต่หลังจากนี้การกลับมาของการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทย ททท.วางไว้ว่าจะกลับมาที่ 58% ในปี 65 คือสร้างรายได้อยู่ที่ 1.49 ล้านล้านบาทในปี 2565 และกลับมาได้อีก 80% โดย หรืออยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาทของรายได้ในปี 2562 ทั้งจากคนไทยเที่ยวภายในประเทศและต่างชาติเที่ยวไทย
ส่วนการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเราตั้งเป้าว่าในปี 2566 จะดึงคนกลับเข้าได้สักครึ่งหนึ่งหรือ 20 ล้านคนของปี 2662 เน้นคนน้อยแต่เพิ่มคุณภาพ โดยททท.จะเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่จะโฟกัสใน5 เรื่อง ได้แก่
1.Value over Volume (VOV) ที่จะเปลี่ยนวิธีสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงที่มุ่งเน้นคุณค่าของประสบการณ์เหนือราคาและเปลี่ยนแนวทางการจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ความปลอดภัยเป็นพื้นฐาน สร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง มีคุณค่า ประทับใจเป็นจุดขาย เพราะถ้าไทยจะขายทะเลทุกที่ก็มีsea sand sun เราจึงใส่เรื่องของการสร้างประสบการณ์ในพื้นที่ผสมผสานฮอสพิทาลิตี้ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ ต้องเปลี่ยนวิธีการขายใหม่ไม่ได้ขายแบบเดิม
2. การทำเรื่องDemand-side ได้แก่การ เพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รายได้สูง และมุ่งเน้นให้การท่องเที่ยวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นการแบ่ง Segment ลูกค้าและทำการตลาดให้ตรงกับ Segment ลูกค้า เน้นทำการตลาดด้วยเทคโนโลยี และประยุกต์การตลาดแบบ Story Tellingมากกว่าการขายตรงที่ตัวแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว สนับสนุนการท่องเที่ยวให้หลากหลายไม่กระจุกตัวการเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ ท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค
3.การTransformation สู่ R&D Tourism ที่จะมุ่งปรับโครงสร้างเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานบนพื้นฐานของความยั่งยืน (Responsible Tourism) การยกระดับห่วงซ่อุปทานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เท่าทันและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล (Digital Tourism)
4.การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืน นำแนวคิด BCG Model มาใช้การสร้างศักยภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสร้างความยั่งยืน เช่น SHA X (เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่ททท.จะพัฒนาขึ้นโดยผูกกับเรื่องความยั่งยืน)
5.การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยททท.จะเน้นใน 4 เรื่องคือ Digital Industry สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิกัลไปปรับใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ การติดต่อสื่อสารและทำธุรกรรม โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
Digita/ Invest ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสร้างความยืดหยุ่นทางธุรกิจและการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
Digital Innovation ร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล อาทิ AR & VR Blockchain (ความแม่นยำและความปลอดภัย) Recognition (การจดจำข้อมูล) และ Smartphone (ความสะดวกด้านการบริการที่ช่วยให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ช่วยในการสื่อสาร และการได้รับข้อมูลเชิงลึกจากนักท่องเที่ยว)
Digital Tourism การต่อยอดการเงินดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยี เพิ่มทักษะดิจิทัล สร้างความปลอดภัยในโลกออนไลน์ (Cyber Security) และสนับสนุนทางดิจิทัล (Digital Support)
นี่เองทำให้ททท.นำเรื่องการเงินดิจิตอลมาต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อสร้างให้เกิดTourism Metaverse หรือโลกใบใหม่แบบ3มิติ ซึ่งต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความรู้ด้านดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับคริปโต เนื่องจากรูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมอาจไม่สามารถตามทันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้
“เทคโนโลยีรวมถึงคริปโตเคอเรนซี กำลังเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้น ททท. จึงต้องฉวยโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ด้วยแผนระยะสั้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมาช่วยเร่งรายได้จากการท่องเที่ยว”
โดยททท.จะตั้งบริษัทลูก ซึ่งททท.ถือหุ้น40% และดึงผู้เชี่ยวชาญมาถือหุ้น 40% และสมาคมด้านการท่องเที่ยวอีก 20% เพื่อมีการพัฒนาโทเคนการออกคริปโต เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอน vouchers ไปสู่ TAT Coin เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังอาจส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่นๆ ในโลกของ crypto ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีเงินที่ซื้อสินค้าและบริการเป็นเหรียญดิจิทัลได้ รวมถึงโทเคน NFT อยู่แล้ว เข้ามาใช้จ่ายในไทย ซึ่งได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วรวมถึงมีผู้ประกอบการหลายคนก็เสนอตัวมาร่วมพัฒนากับททท.ในเรื่องนี้อาทิบริษัทบิทคัพ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub)
“แม้ปัจจุบันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้อนุญาตให้นำคริปโตฯไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการภายในไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นแน่นอน ททท.จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับดีมานด์นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ถือคริปโตฯอยู่ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและเต็มใจจ่าย ตรงกับเป้าหมายที่ ททท.ต้องการดึงให้เข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทย”
ทั้งนี้เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ททท.ได้หารือกับ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยข้อสรุปจากการหารือ ทาง กลต.ไม่ได้ขัดข้องในการให้ ททท.ออกเหรียญ แต่เหรียญที่ออกจะต้องเป็น “Utility Token พร้อมใช้” ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแปลงคูปองในลักษณะที่เป็นวอยเชอร์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล และเสนอขายในรูปแบบ Utility Token พร้อมใช้ในตลาดแลกต่อลูกค้า เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้สามารถขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ เหมือนกับการขายอี-วอยเชอร์
“พูดง่ายๆ คือเหมือนเอาอี-วอยเชอร์มาทำเป็นโทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถนำเงินที่รับมา ไปหมุนเวียนเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป แต่สิ่งที่ทาง กลต. และ ธปท. ให้ ททท.ยืนยันท่าทีก็คือว่า จะต้องไม่มีการนำเอา Utility Token พร้อมใช้ดังกล่าวมาลิสต์ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่อย่างใด หรือไม่สามารถนำไปเทรดซื้อขายได้นั่นเอง โดย ททท.มองว่าแม้จะออก Utility Token พร้อมใช้ที่ไม่สามารถนำไปเทรดได้ แต่ก็สามารถนำไปเป็นส่วนลด หรือเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจซื้อโทเคนดิจิทัลไปก็ได้”
อย่างไรก็ดี ทาง กลต.ยังระบุด้วยว่า ถึงแม้ ททท.จะไม่สามารถนำ Utility Token พร้อมใช้ ไปลิสต์ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่ผู้ซื้อขาย Utility Token พร้อมใช้ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวได้ ผ่านช่องทางผู้ประกอบธุรกิจประเภทนายหน้าและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 6 ราย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 1 ราย
ทั้งหมดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ในการขับเคลื่อนท่องเที่ยวหลังโควิดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,723 วันที่ 17 -20 ตุลาคม พ.ศ. 2564