"AAV" เพิ่มทุนระดมทุน1.4หมื่นล้าน ปรับโครงสร้าง"ไทยแอร์เอเชีย"

20 ต.ค. 2564 | 00:53 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 14:29 น.

AAV ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน8พันล้านหุ้น โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดจำนวน7ราย กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและรองรับหุ้นกู้แปลงสภาพ ตามแผนปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และไทยแอร์เอเชีย ปรับโครงสร้างหนี้ หวังระดมทุน14,000 ล้านบาทพลิกฟื้นธุรกิจ

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประทศไทย(ตลท.)ว่าคณะกรรมการบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 485,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 1,285,000,000 บาท

 

โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 8,000,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 0.10 บาท เพื่อรองรับ 1. การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)("PP") ซึ่งกำหนดราคาเสนอขายไว้อย่างชัดเจน 2.การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน การถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ('RO") และ 3. การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ("CB"')

ทั้งนี้ การออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ มีรายละเอียดดังนี้

 

1. รายละเอียดของการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

 

1.1 การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งกำหนด ราคาเสนอขายไว้อย่างชัดเจน โดย จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 5,028,571,429 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้น ละ 0.10 บาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 1.75 บาท (ซึ่งเป็นราคาเดียวกับราคาที่บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (RO)

 

\"AAV\" เพิ่มทุนระดมทุน1.4หมื่นล้าน ปรับโครงสร้าง\"ไทยแอร์เอเชีย\"

 

โดยบุคคลในวงจำกัด มีรายละเอียด ดังนี้

 

1. AirAsia Aviation Limited ("AAA") ซึ่ง เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน(Investment Company) และเป็นบริษัทย่อยร้อยละ 100 ของ AirAsia Group Berhad ("AAGB") โดย AAA ถือหุ้นร้อยละ 45 ในไทยแอร์เอเชีย จะถือหุ้นไม่เกิน 4,457,142.857 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 45.12

 

2.นายพิธาน องค์โฆษิต ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) จะถือหุ้นไม่เกิน 362,049,116 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 3.7

 

3.นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท บริษัท แพลน ปี มีเดียจำกัด (มหาชน) ไม่เกิน 150,947,980 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 1.5

4.นายบัณฑิต พิทักษ์สิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อีซูซุ สงวนไทย ไม่เกิน 14,607,869 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 0.1

 

5.นางปิยะพร วิชิตพันธุ์ ผู้บริหารบริษัทในเครือเซ็นทรัล จำนวนหุ้นที่จัดสรรไม่เกิน 14,607,869 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 0.1ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อีซูซุ สงวนไทย

 

6. นายสุวพล สุวรุจิพร กรรมการและ ผู้บริหารของบริษัท กรุงเทพ ชินธิติกส์ จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เมโทรชิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่เกิน 14.607,869 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 0.1

 

7.นายวรพจน์ อำนวยพลผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สกายไอซีที จำกัด (มหาชน) ไม่เกิน 14,607,869 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 0.1

 

1.2 การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,714.285.714 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาทเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (RO) ในอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 5.7625 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 1.75 บาท

 

1.3การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพ การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนในจำนวนไม่เกิน 1,257,142.857 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ให้กับบุคคลในวงจำกัดจำนวน 2 ราย เพื่อรองรับการแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพ

 

สำหรับวัตถุประสงค์ของการออกหุ้นเพิ่มทุนและแผนการใช้เงินบริษัทฯ จะนำเงินที่จะได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) การจำหน่าย หุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวนรวมประมาณ 11,000 ล้านบาท และการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (RO) ประมาณ 3,000 ล้านบาท บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 14,000 ล้านบาท ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

 

1. ใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีต่อสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 3,900 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย ซึ่งบริษัทฯ จะได้กู้ยืมเงินมาเพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ในไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 69.2 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ และไทยแอร์เอเชีย โดยบริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการชำระคืนหนี้เงินกู้ดังกล่าวภายในปี 2564

 

2. ใช้ซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียที่เหลือทั้งหมดอีกร้อยละ 30.8 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียจำนวนประมาณ 3,900 ล้านบาท ซึ่งการซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียที่เหลือถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ และไทยแอร์เอเชีย โดยบริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียส่วนที่เหลือดังกล่าวภายในไตรมาส 1 ปี 2565

 

3. ใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงไทยแอร์เอเชีย และบริษัทฯ อาจพิจารณาเพิ่มทุนในไทยแอร์เอเชียเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของไทยแอร์เอเชียในอนาคต โดยบริษัทฯ จะใช้เงินส่วนที่เหลือจากข้อ 1. และ 2. เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในใตรมาส 2 ปี 2565

 

ทั้งนี้ หากบริษัทฯ สามารถจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นกู้แปลงสภาพได้ทั้งหมด บริษัทฯ จะได้รับเงินการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่บุคคลในวงจำกัด ( PP) จำนวนประมาณ 11,000 ล้านบาท และเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (RO) ประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้แปลงสภาพทั้งหมดในครั้งนี้ ประมาณ 14,000 ล้านบาท รวมถึงภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้น จะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นในไทยแอร์เอเชียซึ่งเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจ (Operating company) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 100

 

\"AAV\" เพิ่มทุนระดมทุน1.4หมื่นล้าน ปรับโครงสร้าง\"ไทยแอร์เอเชีย\"

 

อีกทั้งการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 10,820 ล้านบาท) รวมถึงบริษัทฯ คาดว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือจากภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นไปเพิ่มทุนในไทยแอร์เอเชียเป็นมูลค่าประมาณ 6,200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้น (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยแอร์เอเชียมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ (ขาดทุนเกินทุน)เท่ากับ 9,722 ล้านบาท)

 

บริษัทฯ เชื่อว่าเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ จะเพียงพอต่อแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ และไทยแอร์เอเชีย รวมถึงแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของไทยแอร์เอเชีย และจะทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับรองรับการประกอบธุรกิจสายการบินในอนาคตภายหลังจากที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ

 

ด้านนายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า บริษัทพร้อมเต็มที่สำหรับการเดินทางที่จะกลับมา หลังสถานการณ์โควิด-19 โดยล่าสุด AAV ได้ทบทวนแผนการปรับโครงสร้างกิจการเดิม และกำหนดแผนขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศ ทั้งนี้ได้เจรจากับผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของ AAV และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) ซึ่งคาดว่าแผนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2565

 

ธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์

โดยแผนปรับโครงสร้างกิจการใหม่  AAV จะเพิ่มทุนจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนรายใหม่มูลค่าไม่เกิน 8,800 ล้านบาท ประกอบไปด้วยการเสนอขายแก่ AirAsia Aviation Limited (“AAA”) มูลค่า 7,800 ล้านบาท และเสนอขายแก่นักลงทุนบุคคลธรรมดามูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 5,028,571,429 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท 

 

อีกทั้ง AAV จะออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่ารวม 2,200 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนจำนวน 2 ราย มีอายุหุ้นกู้แปลงสภาพไม่เกิน 2 ปี อัตราแปลงสภาพคือหุ้นกู้แปลงสภาพ 0.00175 หน่วยแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น โดยเสนอขายให้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,200 ล้านบาท และ North Haven Thai Private Equity, L.P. มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเเปลงเป็นหุ้นสามัญรวมจำนวนไม่เกิน 1,257,142,857 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ทั้งนี้ นักลงทุนดังกล่าว ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ AAV ในระยะยาว และพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพิ่มเติมในอนาคตแก่ AAV

 

นอกจากนี้  AAV จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,714,285,714 หุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นรายเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) โดยมีอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 5.7625 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 1.75 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท

 

โดยภายหลังการปรับโครงสร้างกิจการเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2565 นั้น  AAV จะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน TAA โดยใช้เงินจากการระดมทุนดังกล่าวในการซื้อหุ้น TAA 

 

ทั้งนี้ นายธรรศพลฐ์ กล่าวถึงเหตุผลในการเสนอแผนใหม่สำหรับการปรับโครงสร้างกิจการและทุน เพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มความรวดเร็วในดำเนินการด้านเงินทุน รวมถึงได้เจรจากับผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของ AAV และ TAA แล้ว ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าทุกฝ่าย ทั้งนักลงทุนใหม่และผู้ถือหุ้นเดิมจะได้ประโยชน์ร่วมกันในแผนครั้งนี้ 

 

“ธุรกิจท่องเที่ยวเเละสายการบินกำลังฟื้นตัวและได้รับสัญญาณที่ดีสนับสนุนต่อเนื่อง การที่ผมและคณะกรรมการได้ทบทวนทุกแง่มุมเพื่อให้ได้ผลสรุปในการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ จะทำให้การดำเนินงานของ TAA กลับมาแข็งแกร่งโดยเร็วที่สุด ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาด ซึ่งหลังจากนี้ TAA จะเดินหน้าเพิ่มความถี่และเส้นทางบิน ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะกลับมาบินเส้นทางภายในประเทศครบ 100% ภายในเดือนมกราคม 2565 ในขณะที่พิจารณาเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ ตามเเผนเปิดประเทศของรัฐบาลต่อไป” นายธรรศพลฐ์กล่าว 

 

อ่านรายละเอียด คลิ๊กที่นี่