23 ตุลาคม 2564 - นับถอยหลังไทย เปิดประเทศ 1 พ.ย.พ่วง รายชื่อ 46 ประเทศเข้าไทย โดยไม่ต้องกักตัว ภาคเอกชนเฮ!ลั่น ฟื้นภาคการท่องเที่ยว โดย นายอรรถนพ พันธุกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Property) ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และนครศรีธรรมราช ระบุว่า นโยบายเปิดประเทศ ดังกล่าวของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว แม้จะล่าช้าไปบ้างก็ตาม เพราะหลังสถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย การประเทศได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ และเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆให้เข้ามาท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ผ่านการลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในช่วงก่อนหน้า ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเท่านั้น
" วันนี้ ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า โควิดจะยังไม่หายไปไหน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ การหาทางอยู่ร่วมกับมัน ซึ่งหากเทียบการเริ่มปิดประเทศ ในช่วงปี 2563 จากความกังวล การนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ โดยในประเทศเริ่มมีผู้ติดเชื้อระดับหลักสิบราย กับปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในอัตราระดับหมื่นรายนั้น ความเสียหายแทบไม่แตกต่างกัน แต่สถานการณ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากความพร้อมหลายๆอย่าง และการเร่งฉีดวัคซีนก่อนหน้า ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว คาดจะเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวโยงกับเทรนด์ด้านสุขภาพ"
บูมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ทั้งนี้ ข้อมูลศึกษาของบริษัท เจาะตลาดการท่องเที่ยวและแนวโน้มด้านสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) มีศักยภาพการเติบโตที่สูงมาก เพราะเป็นบริการที่จะเข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะกลุ่ม Hight Net Worth ที่มีกําลังซื้อสูง และสามารถสร้างเม็ดเงินจํานวนมหาศาล
สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์และการสุขภาพทั่วโลก ในปี 2564 ซึ่งผู้คนในทุกระดับหันมาให้ความสําคัญกับสุขภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงวิกฤติต่าง ๆ ที่กําลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบด้านสุขภาพเท่านั้น หากยังลุกลามไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจําวัน การเดินทาง การท่องเที่ยวและอื่น ๆ ปัจจัยเหล่านี้จะก่อให้เกิดความต้องการหาโซลชูั่นเพื่อการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ ซึ่งอยู่ในรูปแบบบริการที่เข้าถึงง่าย ดึงดูดใจและสอดรับกับกิจกรรมไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันทั้งในด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการยกระดับภาพลักษณ์ "To Be a Better YOU" โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบประสบการณ์แบบ "จับต้องได้และเห็นผลลัพธ์กับร่างกายอย่างชัดเจน" ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจการดูแลสุขภาพ การแพทย์ รวมถึงศัลยกรรมมีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ เม็ดเงินสะพัด 157 ล้านล้านบาท
ข้อมูลสถิติของอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ภาพรวมอุตสาหกรรม ทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่าสูงกว่า 4.75 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 157 ล้านล้านบาทแบ่งเป็น ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มีมูลค่าถึง 639 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 20 ล้านล้านบาทขณะในเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีส่วนแบ่งตลาดนี้ถึง 46.8 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6ล้านล้านบาท ส่วนตลาดโครงการอสังหาฯ การดูแลสุขภาพมีมูลค่าที่ 134.3 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.4 ล้านล้านบาท
ในแง่สถิติของตลาดเวลเนสการดูแลสุขภาพและสปาทั่วโลก หากพิจารณาแล้ว ในภาคธุรกิจสปา กลุ่มการแพทย์มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด เมื่อปี 2559 รายรับของธุรกิจสปาเฉพาะในสหรัฐฯ อยู่ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์หรือกว่า 570,000 ล้านบาท /ปี 2561 รายรับของธุรกิจสปาเฉพาะในสหรัฐฯ อยู่ที่ 18.3 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 585,000 ล้านบาท ขณะปี 2565 ตลาดสปาทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 154.6 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.9 ล้านล้านบาท
เปิดประเทศปลุกตลาดเวลเนส - ดูแลสุขภาพไทย
ส่วนภาพรวมตลาดเวลเนส การดูแลสุขภาพและสปาของไทย พบในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หลายประเทศทั่วโลกได้ดําเนินโครงการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในแถบยุโรป อเมริกา และสแกนดิเนเวียน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะทําให้การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมา และส่งผลถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยเช่นกัน บทเรียนจากการแพร่ระบาด จะทําให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักว่า การดูแลสุขภาพเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมีความสําคัญอย่าง
ไม่อาจปฏิเสธได้ โปรแกรมการดูแลสุขภาพจะถูกสอดแทรกไว้ในกิจกรรมไลฟ์
สไตล์แทบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว