เจาะลึก พันธบัตร Stablecoin ไทยพร้อมหรือยัง?

23 ธ.ค. 2567 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2567 | 09:59 น.

เจาะลึก พันธบัตร Stablecoin ไทยพร้อมหรือยัง? CEO บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด วิเคราะห์โอกาสและความท้าทายในระบบการเงินดิจิทัล พร้อมแนะกฎหมายและโครงสร้างรองรับเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างระบบที่โปร่งใส ลดช่องว่างระหว่างรัฐและประชาชน

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด กล่าวภายในรายการ ‘ฐานทอล์ค’ ว่า Stablecoin คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกออกแบบให้มีมูลค่าคงที่ ด้วยการผูกค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือทองคำ ซึ่ง Stablecoin จะมีความแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เช่น Bitcoin ที่มีความผันผวนสูง จึงเหมาะกับการนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องการความโปร่งใสและเสถียรภาพ


“Stablecoin ช่วยให้ผู้ใช้งานมั่นใจในมูลค่าเงินดิจิทัล และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกการเงินดั้งเดิมกับโลกดิจิทัลได้อย่างราบรื่น” ภาวุธกล่าว

 

Stablecoin กับบทบาทใหม่ในระบบการเงินไทย

ในบริบทของไทย StableCoin ถูกมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างเงินดิจิทัลที่รัฐเคยเสนอกับ Stablecoin โดยเงินดิจิทัลของรัฐถูกจำกัดการใช้งานในวงแคบ เช่น ใช้ได้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย แต่ Stablecoin สามารถกระจายสู่ประชาชนในวงกว้างผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน

“การนำพันธบัตรรัฐบาลมาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน Stablecoin จะช่วยให้เงินเหล่านี้สามารถกระจายสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงง่าย เปลี่ยนระบบการเงินจากที่เคยจำกัดเฉพาะสถาบันการเงินรายใหญ่ให้เปิดกว้างสำหรับทุกคน”

 

ข้อดีที่ Stablecoin มอบให้ไทย

Stablecoin ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเพิ่มความโปร่งใสในระบบการเงิน เมื่อใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ธุรกรรมทั้งหมดสามารถติดตามได้อย่างละเอียด เช่น เงินถูกโอนจากกระเป๋าใดไปที่ใด ทำให้ลดโอกาสการทุจริตและสร้างความไว้วางใจในระบบการเงิน ส่วนข้อดีอื่น ๆ ได้แก่

  • การกระจายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ : ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลได้ผ่านแอปพลิเคชันวอลเล็ต
  • ลดการทุจริต : การใช้บล็อกเชนช่วยติดตามการไหลเวียนของเงินได้อย่างชัดเจน
  • กระตุ้นเศรษฐกิจ : เงิน Stablecoin สามารถหมุนเวียนในระบบได้เร็วกว่าเงินสด

 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Stablecoin ในไทยยังคงต้องอาศัยการปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง แม้ไทยจะมีโครงสร้างกฎหมายที่ก้าวหน้าในด้านคริปโตเคอเรนซี แต่การออก Stablecoin อย่างเป็นทางการยังต้องรอการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต.

“การสร้าง Stablecoin ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ทองคำหรือพันธบัตร เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับระบบ หากรัฐสามารถกำหนดกฎหมายและกรอบการใช้งานที่ชัดเจน จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล”

 

Stablecoin กับอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

Stablecoin คือโอกาสสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ที่มีศักยภาพที่จะเป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคด้านการเงินดิจิทัล หากก้าวทันเทคโนโลยีและมีกฎหมายรองรับอย่างเหมาะสมจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนได้

ทั้งนี้ Stablecoin ไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมการเงิน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ หากรัฐบาลสามารถวางโครงสร้างที่เหมาะสม ไทยจะสามารถก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน