การที่ศบค.เริ่มผ่อนคลายให้กิจการศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้าและโรงแรม ให้สามารถกลับมาจัดงานได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทยอยกลับมาจัดธุรกิจด้านไมซ์ของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
แม้จะยังจำกัดจำนวนไม่เกิน 500 คน ทั้งยังคุมจำนวนการจัดงานตามระดับพื้นที่ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดถึงเฝ้าระวังอยู่ คือจากเดิมไล่ตามระดับพื้นที่จาก 25, 50, 100, 200, 500 คน ปรับเพิ่มมาเป็น50, 100, 200, 300, 500 คน
แต่อย่างน้อยก็ทำให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง และหากการจัดงานมีจำนวนคนเกินกว่าที่กำหนด ก็มีการเปิดทางให้ผู้จัดงานทำแผนการควบคุมการแพร่ระบาดในการจัดงาน เสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดและผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดเพื่อขออนุมัติได้ ซึ่งอาจจะยุ่งยากหน่อย จึงยังต้องรอลุ้นว่าการจัดงานในช่วงไตรมาส4ปีนี้ ที่รอคอนเฟริมจะจัดกว่า 1,000 งาน เช่น งานแสดงสินค้ามีจำนวน 54 งาน ซึ่งจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรีจำนวน 32 งาน ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 22 งาน ที่จะจัดได้จริงตามแผนหรือไม่
ต้องขอนุมัติหากจัดงานเกินโควต้า
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการด้านไมซ์ เผยว่า ในขณะนี้ศูนย์ประชุมและนิทรรศการต่างๆอย่างไบเทค ก็เพิ่งจะกลับมาเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยในขณะนี้การจัดงานประชุมเริ่มเข้ามาบ้างแล้ว โดยในเดือนพ.ย.มี 8 งานที่เป็นการประชุมภายในของบริษัทต่างๆ ส่วนการจัดเอ็กซิบิชั่น ทางผู้จัดงานอยู่ระหว่างการยื่นแผนเพื่อขอการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าได้รับอนุมัติก็มีงานที่รอชัดอยู่ อย่าง งานไทยเที่ยวไทย งานบ้านและสวน เป็นต้น ขณะที่อิมแพ็ค ก็มีงานที่อยู่ในลิสต์ที่จะจัดในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. แล้ว อาทิ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ งานแสดงสินค้าแม่และเด็ก ไทยแลนด์เบย์บาย งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ซึ่งการจัดเอ็กซิบิชั่นส่วนใหญ่จะมีจำนวนเกินกว่าที่ศบค.กำหนดไว้ ซึ่งผู้จัดงานต้องจัดทำมาตรการปฏิบัติตามขั้นตอนโควิด เพื่อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี อนุมัติการจัดงาน
“การกลับมาจัดงานเอ็กซิบิชั่นจะยุ่งยากพอสมควร เพราะไม่เพียงส่วนใหญ่จำนวนคนจะเกิดที่ศบค.กำหนดต้องขออนุญาตเป็นงานๆไม่ ยังมีปัจจัยในเรื่องการซื้อพื้นที่ของภาคธุรกิจด้วย ว่าจะมีจำนวนมากพอที่คุ้มค่าจะจัดหรือไม่ หรืออาจจัดได้แต่ต้องลดสเกลการจัดงานลง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรค์ในการจัดงานพอสมควร” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย
กางแผนผ่อนปรนไมซ์ 3 ระยะ
อย่างไรก็ตามการผ่อนปรนล่าสุดของศบค.ชุดใหญ่ แม้จะยังผ่อนปรนได้ไม่เต็มที่ตามข้อเสนอที่ศบค.ชุดเล็กเห็นชอบกรอบในหลักการตามข้อเสนอของทีเส็บที่ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านไมซ์ 23 องค์กร ในการออกมาตรการผ่อนปรน “โครงการเปิดเมืองปลอดภัย ยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยมาตรฐาน” สำหรับการจัดประชุม งานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาล และงานมหกรรม เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่อย่างน้อยเมื่อแผนการจัดงานด้านไมซ์นี้ใน 3 ระยะก็ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้ว หากการแพร่ระบาดลดลงก็จะมีการผ่อนปรนตามแผนในแต่ละระยะได้เพิ่มขึ้น
ได้แก่ ระยะที่ 1 (1-30 พฤศจิกายน 2564) จัดการประชุม กำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน จัดงานแสดงสินค้า (ไม่มีการชิมอาหาร) งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
ระยะที่ 2 (1-31 ธันวาคม 2564) จัดการประชุมกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คน จัดงานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
ระยะที่ 3 (1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) เปิดให้จัดได้ในทุกกิจกรรม จัดงานได้ตามเหมาะสม โดยจัดได้เต็มพื้นที่ 100% เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
ชู 2 โครงการขับเคลื่อนไมซ์ในปท.
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การจัดงานไมซ์ภายใต้มาตรการผ่อนปรน โครงการเปิดเมืองปลอดภัย ยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยมาตรฐาน ได้ประมาณการว่า หากสามารถจัดงานในประเทศได้เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ดูไบ จีน ญี่ปุ่น ยึดหลักตามแนวคิด Smart Control Smart Living with COVID ของกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยสร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนเป็นอย่างมาก เช่น การประชุม 1,000 งาน ที่มีจำนวน 50 คนต่อกลุ่มต่อเดือน จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ภูมิภาคกว่า 250 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมในการฟื้นฟูด้านการเดินทางธุรกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
การกระตุ้นตลาดไมซ์ ทีเส็บจะเน้นโดเมสติกไมซ์เป็นหลักในขณะนี้ โดยการสนับสนุนการประชุมและอินเซ็นทีฟ ในโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ซึ่งทีเส็บได้สนับสนุนเงินให้ 1.5 หมื่นบาทต่อวัน และ 3 หมื่นบาทสำหรับ 2 วัน 1 คืนในการสนับสนุนเกิดการจัดงานด้านไมซ์ ซึ่งได้ขยายเวลารับสมัครไปจนถึง 15 ธ.ค.นี้ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เดินทางไปยังภูเก็ต
รวมถึงการจัดทำโครงการ Domestic Exhibition Recovery” เป็นแพ็กเกจสนับสนุนเร่งส่งเสริมตลาดงานแสดงสินค้าในประเทศ สนับสนุนผู้จัดงานผ่าน 2 แพ็กเกจ ได้แก่ 1. แพ็กเกจ “Regional Best Show” สนับสนุนงานแสดงสินค้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก 5 กลุ่มอุตสาหกรรม และเป็นงานที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่ภูมิภาค ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือ
จากเครือข่ายภาคี EMTEX ไม่ต่ำกว่า 3 หน่วยงาน ด้วยวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท 2. แพ็กเกจ “Gear Up Exhibition” สนับสนุนงานแสดงสินค้าทั่วไปในวงเงินไม่เกิน 700,000 บาท โดยขอรับการสนับสนุนได้ถึง 30 ก.ย.65 เพื่อหวังกระตุ้นไมซ์ในประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่พอจะจัดได้บ้างหลังการผ่อนปรนกิจกรรมไมซ์บางส่วนที่เกิดขึ้น
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,725 วันที่ 24 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564