กว่า 2 ปีนับจากเกิดโควิด-19 “ไทยไลอ้อน” จัดว่าเป็นสายการบินแรกๆ ที่ออกมาลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจก่อนใคร โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านบุคคลากร และมีการควบคุมต้นทุนอย่างเข้มข้น และแม้หลังการคลายล็อกดาวน์จะเริ่มกลับมาทำการบินได้อีกครั้ง แต่โควิดก็ยังทำให้ธุรกิจการบินมีความผันผวนสูง ส่งผลให้สายการบินต้องปรับตัวเพื่อประคองตัว รอธุรกิจฟื้นตัวในปี66
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อน แอร์ เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผมมองว่ากว่าผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด น่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 66 เพราะแต่ละประเทศก็ยังต้องระมัดระวังการเดินทาง อย่างจีนก็ยังไม่ปล่อยให้คนจีนออกมาเที่ยว และหลายประเทศเมื่อเดินทางกลับเข้าไปก็ยังมีการกักตัว ประกอบกับการตัดสินใจกลับเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ กว่าจะเริ่มได้ต้องรอดีมานต์ให้สายการบินขายได้ทั้งผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
ขยายฐานรายได้จากคาร์โก้
ดังนั้นสายการบินจึงมองว่าท่ามกลางจำนวนผู้โดยสารที่ยังไม่แน่นอนสูง ทำให้สายการบินตัดสินใจนำเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-900 Neo ที่เพิ่งจะรับมอบเข้ามาใหม่ 2 ลำ จุได้ 436 ที่นั่ง มาประจำการที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศเป็นหลัก โดยทำการบินไปยังไทเป ญี่ปุ่น เดลี มุมไบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งอาหารสด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และถ้าธุรกิจการบินฟื้นก็จะนำมาให้บริการผู้โดยสารต่อไป
ส่วนเที่ยวบินที่จะให้บริการผู้โดยสารเป็นหลัก จะยังคงเป็นโบอิ้ง 737 ซึ่งให้บริการอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งปัจจุบันทำการบินเส้นทางบินในประเทศ แต่เมื่อรัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะเปิดเส้นทางบินไปยังสิงคโปร์ แต่จะเปิดได้เมื่อไหร่ต้องขอรอดูสถานการณ์ของผู้โดยสารก่อน
ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเชื่อมโยงของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีการหมุนเวียน เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เหมือนเดิม สายการบินก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นรายได้หลักยังไม่สามารถทำการบินไม่ได้ ทำให้เราต้องควบคุมต้นทุนอย่างเข้มข้น ปรับการให้บริการให้สอดรับความต้องการในการเดินทางที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งการฉีดวัคซีนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็มีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
ขณะเดียวกันด้วยความที่โควิดทำให้ธุรกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง การควบคุมการใช้จ่ายจึงยังเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ยังมองว่าหากรัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเรื่องซอฟต์โลนตามที่ 7 สายการบินร้องขอ ก็จะช่วยผู้ประกอบการได้ส่วนหนึ่ง และสายการบินยังได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ในการลดค่าธรรมเนียมในการให้บริการลง ก็มีส่วนช่วยเหลือสายการบินได้ด้วยเช่นกัน
“โควิดทำให้เป้าหมายในการขยายธุรกิจของไทยไลอ้อนแอร์สะดุดไปมาก ก่อนหน้านี้เราเคยวางแผนว่าจะเพิ่มฐานการบินที่สนามบินอู่ตะเภา โดยตั้งใจว่าปีหน้าจะเริ่มเอาเครื่องบินเข้ามาให้บริการปีละ 10 ลำตามแผน 5 ปีรวม 50 ลำ แต่เมื่อมาเจอโควิด ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามแผน ต้องล่าช้าออกไป เพื่อรอให้ตลาดฟื้นกลับคึกคักเหมือนในอดีต ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร” นายอัศวิน กล่าวทิ้งท้าย
ปี 65 หวังผู้โดยสารกลับมา 50%
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อน แอร์ กล่าวเสริมว่าที่ผ่านมาโชคดีที่เราเป็นสายการบินแรกๆที่ปรับตัวไว ก่อนหน้าโควิดเรามีเครื่องบิน 20 กว่าลำ เมื่อปีที่แล้วเราทยอยคืนเครื่องบินออกไป ปัจจุบันเหลือ 12 ลำ รวมแอร์บัส 2 ลำ ที่เพิ่งรับมอบมา แม้เครื่องบินลำนี้จะจุผู้โดยสารได้ 436 ที่นั่ง แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอน เราจึงนำเครื่องบินมาใช้เพื่อบินคาร์โก้เป็นหลักในช่วงนี้
ประกอบกับที่ผ่านมาเรามีการนำเครื่องออกจากฝูงบินก็จะมีเรื่องของการลดจำนวนพนักงานลงไป การลดเงินเดือนพนักงาน ประกอบกับมีพนักงานบางส่วนก็ขอลาออกไปก่อนหน้านี้ ทำให้เมื่อเกิดโควิดระลอกล่าสุดในปีนี้ เราก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายพอประคองตัวไปได้
ส่วนการเปิดเส้นทางบินเพื่อรองรับผู้โดยสาร ก็จะยังคงให้บริการอยู่ที่สนามบินดอนเมืองเป็นหลัก โดยไทยไลอ้อนแอร์ กลับมาเปิดทำการบินได้ครบทุกเส้นทางแล้ว หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ เพียงแต่ความถี่ของเที่ยวบินอาจยังไม่กลับมาเท่าเดิม ซึ่งปีนี้สายการบินเปิดให้บริการมาครบ 8 ปีแล้ว และจะเข้าสู่ปีที่ 9 ในปีหน้า โดยเราก็ยังมองว่าผู้โดยสารในปีหน้าก็น่าจะเป็นลูกค้าคนไทยเป็นหลักอยู่
สำหรับผู้โดยสารต่างชาติ ก็คงต้องดูว่าจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทย จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในระดับใด เพราะประเทศปลายทางบางประเทศยังมีเรื่องการกลับไปต้องถูกกักตัว แต่ถ้ารัฐบาลไทยสามารถเจรจาทราเวล บับเบิ้ลกับประเทศต้นทางได้ ก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เพิ่มขึ้น ส่วนการจะกลับมาบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ ไทยไลอ้อนแอร์ ก็อยู่ระหว่างพิจารณาว่าใน 46 ประเทศที่ไทยมีการเปิดประเทศจะมีโอกาสที่เราจะเปิดบินเส้นทางบินได้บ้าง ก็ยอมรับว่าดูไว้ที่สิงคโปร์อยู่ แต่คงต้องใช้เวลาเพราะต้องดูดีมานต์การเดินทางออกไปจากไทยด้วยว่ามีมากเพียงพอที่จะเปิดเที่ยวบินหรือไม่
อย่างไรก็ตามในปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ราว 2 ล้านคน ลดลงจากปีที่แล้ว ที่อยู่ที่ 4 ล้านคน ขณะที่ก่อนเกิดโควิด สายการบินมีผู้โดยสารใช้บริการร่วม 13 ล้านคน ส่วนปีหน้าเรายังไม่ได้คาดการณ์ เพราะต้องดูสถานการณ์ตลาดต่างประเทศด้วย แต่เราก็หวังว่าอยากน้อยก็อยากให้ผู้โดยสารกลับเข้ามาสักครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนเกิดโควิด
ทั้งหมดล้วนเป็นการปรับตัวของไทยไลอ้อนแอร์ กับการฝ่าวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564