ปฎิเสธไม่ได้ว่า ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 เป็นกระทบทุกภาคธุรกิจของไทยรวมทั้งธุรกิจรีเทล ที่โดนมาตรการปิด-เปิดหลายระลอกพร้อมๆกับการหายไปของทราฟฟิกทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่เว้นแม้แต่ MBK แหล่งชอปปิ้งเบอร์ต้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ ชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สร้างเงินมหาศาลให้กับภาคท่องเที่ยวและเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของ MBK
แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ มีการเปิดเมือง เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่การเข้ามาของนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ในสัดส่วนที่น้อยและเป็นการเดินทางด้วยตัวเองไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์ ทำให้ MBK จำเป็นต้องทบทวนบิสิเนสโมเดลของตัวเองอีกครั้ง นำมาซึ่งการปรับตัวครั้งใหญ่ที่มุ่งเน้นลูกค้าชาวไทยแทนลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ต่างชาติ โดยลดพื้นที่ชอปปิ้งลงและเพิ่มพื้นที่ร้านอาหารเข้ามาเป็นแม่เหล็กตัวใหม่
นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บรรยากาศหลังการเปิดประเทศเริ่มมีลูกค้านักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ทั้งกลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง เป็นต้น แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเพราะแม้ว่าจะมีการเปิดประเทศรับท่องเที่ยวจริง แต่นักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจริง ส่วนนักท่องเที่ยวเองไม่ได้เน้นเดินทางเข้ามาเพื่อชอปปิ้งเป็นหลักแต่เดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ในขณะที่บริษัททัวร์เองยังไม่มีความเคลื่อนไหวหรือกลับมาเปิดกิจการ ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตอนนี้ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์เหมือนในอดีต ทำให้สัดส่วนทราฟฟิกในศูนย์การค้าMBK ตอนนี้เป็นชาวไทย60 %ต่างชาติ 40% เนื่องจากบริษัทเพิ่มสัดส่วนของคนไทยมากขึ้น
โดยมีการปรับภาพลักษณ์และรีโนเวทศูนย์การค้าทั้งศูนย์ ให้เป็น MBK MB COOL ศูนย์กลางการใช้ชีวิตแบบคูล ๆ ภายใต้งบลงทุน 500 ล้านบาท โดยเปลี่ยนแปลงทั้งระบบให้สอดคล้องกัน เริ่มจากชั้นG ที่มี ICC เป็นตัวชูโรงซึ่งเดิมถูกวางเป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวที่เป็นทัวร์ และนอกจากมีแบรนด์เดิมแล้วยังมีแบรนด์ใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามาซึ่งเป็นการร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น ในส่วนชั้น2-3 เป็นอาณาจักรร้านเพชร-ทอง และมีพื้นที่สำหรับชอปสินค้าที่เกิดและเติบโตในช่องท่งออนไลน์มาไว้ด้วยกันเป็นการเชื่อมออนไลน์สู่ออฟไลน์ รวมทั้งสินค้าที่เน้นเจาะตลาดชาวต่างชาติ
ส่วนชั้น 4 ไฮไลท์คือโซนโทรศัพท์เป็นหลักรวมไปถึงเครื่องมือITและแกดเจ็ต ทั้งหมด ชั้น 5 มีพื้นที่สำหรับการทำพาสปอร์ตรองรับมากถึง50ช่องบริการเปิดตั้งแต่06.00-22.00 น. สถานบันติวเตอร์ 25 สถาบัน และศูนย์กล้อง ชั้น 6 เป็นพื้นที่ลานกิจกรรม, Food court และสินค้าจากโรงงานราคาถูกที่ตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศ และชั้น 7 ยังคงรักษาความเป็นโซนบันเทิงเหมือนเดิม แต่มีการปรับปรุงโรงหนัง SF ทั้งหมดและเติมลิฟท์แก้วที่เปิดใช้งานได้ 24 ชั่วโมง
“ เราเชื่อว่าในภาวะวิกฤตมักจะมีโอกาสเราจะต้องรีบใช้เงินเพื่อลงทุน ซึ่งครั้งนี้เราเสียเงินไปเกือบ 500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงทั้งศูนย์รวมไปถึงสกายวอล์คทั้งหมด และเราจะเห็นภาพลักษณ์ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เราจะเดินสู่การเติมเต็มคนไทยมากขึ้นและคงความเป็นศูนย์การค้าที่ชาวต่างชาติต้องมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีครบทุกอย่างทั้งไทย แบรนด์นอกและแบรนด์เนม
เราตั้งเป้าให้ลูกค้าเข้ามาใช้ชีวิตกับเราได้ทั้งวัน เพราะฉนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะเกิดขึ้น 7 ส่วน โดยดึงดูดลูกค้าด้วยโซนร้านอาหารจากเดิม16% เป็น25% ไล่ตั้งแต่ชั้นG เปิดบริการตั้งแต่ 7 โมงเช้า เราอยากดึงร้านที่อยู่ต่างจังหวัดและไม่มีหน้าร้านในกรุงเทพฯเข้ามาอยู่ในศูนย์ของเรา เราไม่อยากได้หาร้านอาหารที่อยู่ในปั๊มน้ำมันหรือร้านที่ไปที่ไหนก็เจอ เราต้องการให้มีร้านอาหารที่ต้องมาที่นี่เท่านั้น ส่วนร้านอาหารเดิมที่มีสัญญาจะได้รับการรีโนเวทให้เป็นไปในคอนเซ็ปต์เดียวกัน และยกเลิกค่าเช่าพื้นที่สำหรับร้านอาหารแต่เรียกเก็บค่า GP 5-15% แต่ไม่เกิน 35% และเสียค่าส่วนกลาง 400 บาท ส่วนร้านอื่นยึดค่าเช่าเท่าเดิม
ช่วงกลางวันเราดึงดูดคนเดินด้วย มินิพลาซ่า เติมวัยรุ่น มีอีฟแอนด์บอย แฟชั่นเพิ่มขึ้นมา รสมทั้งร้านขายสินค้าราคาถูกเพื่อดึงดูดลูกค้าที่เป็นพนักงานออฟฟิศได้เดินซื้อของหลังทานข้าวเสร็จ
ส่วนหลังเลิกหลังเลิกงานเราทำพื้นที่แฮงเอ้าที่ถูกกฎหมายบริเวณสกายวอล์ค ส่วนภายในห้างทำกระจกใสที่สามารถมองออกไปเห็นวิวถนนฝั่งพญาไทยได้ และมีร้านที่เปิดบริการ 24 ชม.ให้บริการด้วย
ภาพรวมไตรมาส4ดีกว่าไตรมาส3 ที่มีการปิดล็อกต่างๆ ตอนนี้เปิดบริการได้ 70% และคาดว่าปีหน้าในช่วงไตรมาส2 จะเปิดได้ 90% ของพื้นที่ ซึ่งเราพยายามเร่งให้เกิดขึ้นเพราะโควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะเช่นห้ามก่อสร้าง ห้ามเคลื่อนย้าย ทำให้ทุกอย่างถูกเลื่อนออกไป ตอนนี้กำลังซื้อดีขึ้นแต่ไม่เท่าก่อนโควิด คิดว่าปี 2565จะเราจะสามารถดึงทราฟิกกลับมาได้ประมาณ 9หมื่นคนจากทราฟฟิกปกติ1.2 แสนคน”
นอกจากปรับโฉมMBK CENTER แล้ว บริษัทยังขยายธุรกิจปักธงทำเลทองไปถึงฝั่งตะวันตกของกรุงเทพ ด้วยโปรเจ็กต์ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” โมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้มอลล์ แห่งใหม่ บนพื้นที่กว่า 30,000 ตร.ม. แวดล้อมด้วยบรรยากาศธรรมชาติ ใกล้กับสนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟบางกอก กอล์ฟ คลับ พร้อมต้อนรับลูกค้าคนสำคัญทุกคนได้มาร่วมสัมผัสกับประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบวาไรตี้ครบวงจรในจุดเดียวและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Neighborhood Backyard
“หลังจากนี้เราจะพยายามใช้ที่ดินของเรามาพัฒนาศูนย์การค้า เริ่มจากปั้น“เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” บนที่ดินของเราเองผู้เช่าเองก็มีความมั่นใจในเราสูง เพราะในช่วง covid ที่ผ่านมาเราลดค่าเช่าสูงถึง 70% ตอนนี้มีผู้เช่าเต็มพื้นที่กว่า 50 ร้านค้า ตอนนี้ที่ดำเนินการสร้างไปแล้วการพัฒนาโซนด้านหน้าของศูนย์ ร้านแอปเปิ้ลและพื้นที่ประมูลรถยนต์ พื้นที่ริมน้ำที่เปิดบริการเช่าเรือของบริษัทในเครือที่เราทำร่วมกันได้ และมารีน่าที่กำลังจะเกิดขึ้น”