‘จีระพันธ์’จากไก่ย่างงานวัด ขึ้นห้างหรู ขยายสู่ตะวันออกกลาง

19 ธ.ค. 2564 | 08:54 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2564 | 15:54 น.

ถอดบทเรียน “ไก่ย่างจีระพันธ์” แบรนด์มุสลิมยืนหนึ่งในเมืองไทย ที่โด่งดังไปทั่วเอเชีย จากไก่ย่างงานวัด ที่พลิกโฉมสู่ห้างหรู แต่เมื่อเผชิญกับ “โควิด” ไวรัสร้าย กลับพลิกสถานการณ์ก้าวสู่กำไร และกำลังจะสยายปีกโกอินเตอร์ สู่ CLMV และตะวันออกกลาง

หนึ่งในตำนานที่ถูกสืบทอดมายังทายาทรุ่นที่ 3 สำหรับ “ไก่ย่างจีระพันธ์” ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2485 จากร้านไก่ย่างบนรถซูบารุเล็กๆ เดินสายขายในงานเทศกาลใหญ่ๆ โดยเฉพาะงานวัดประจำจังหวัด จนได้ฉายาว่า “ไก่ย่างงานวัด” ถือเป็นแบรนด์มุสลิม ยืนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงชาวมุสลิม รวมทั้งถูกปากผู้คนทุกกลุ่มที่ได้ลิ้มชิมรส เกือบ 80 ปีที่เปิดดำเนินงานมา “ไก่ย่างจีระพันธ์” ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติมาเยอะ แต่ที่สุดแล้ววันนี้ “แบรนด์จีระพันธ์” กำลังจะไปโลดแล่น ข้ามน้ำ ข้ามทะเลไปยังต่างแดน

ไก่ย่างจีระพันธ์

ถือเป็นต้นแบบของแบรนด์ไทยที่มุ่งมั่นสร้างคุณภาพ และไม่เคยหยุดนิ่ง จนเป็นที่ยอมรับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “บัญญัติ ทิพย์หมัด” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีระพันธ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านไก่ย่างจีระพันธ์ และดร.อังคณา อาดำ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ก่อตั้งไก่ย่างจีระพันธ์ ถึงก้าวย่างใหม่ ที่มาพร้อมยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่จะนำพาองค์กรสู่โกลบอล

 

“บัญญัติ” เล่าให้ฟังว่า หลังพยายามผลักดันให้แบรนด์ไก่ย่างจีระพันธ์ เดินหน้าโดยมีสาขาหลักคือพระราม 9 เป็นเรือธง แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหามากมาย เมื่อถึงทางตัน จึงตัดสินใจหันหน้าปรึกษาผู้รู้ จนที่สุดบรรลุว่า “การทำธุรกิจในยุคนี้ ไม่ใช่ให้ลูกค้าเดินมาหา แต่ลูกค้าอยู่ที่ไหน จีระพันธ์ต้องไปที่นั่น”

 

นับจากวันนั้น “จีระพันธ์” เปลี่ยนมายด์เซ็ต หันเดินหน้าหาทำเลใหม่ คือ การขยายเข้าสู่ห้างหรู ห้างสรรพสินค้าที่เต็มไปด้วยโอกาสของนักธุรกิจ แต่สิ่งที่ต้องเผชิญคือค่าจีพีที่สูง พร้อมกับพบว่า หลายร้านเลือกที่จะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ด้วยการลดต้นทุน แต่ไม่ใช่ที่ “จีระพันธ์”

 

“จีระพันธ์ยอมที่จะได้กำไรน้อยลง แต่ขอให้ลูกค้าที่มาใช้บริการพึงพอใจในรสชาติอาหารที่มีคุณภาพ อร่อย ด้วยวัตถุดิบที่ดี เฉกเช่นเดียวกันในทุกๆ สาขา”

ไก่ย่างจีระพันธ์

เมื่อตั้งเป้าหมายที่จะเดินหน้าต่อ “บัญญัติ” จึงตัดสินใจวางยุทธศาสตร์ ครั้งใหม่ หลังจากที่รีแบรนดิ้ง ปรับภาพลักษณ์องค์กร ให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่ง รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจ จุดประกาศให้เกิดเป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2565-2570)

 

“บัญญัติ” บอกว่า วันนี้นอกจากร้านจีระพันธ์ ที่เป็นร้านมาสเตอร์ (ร้านอาหาร+ครัวกลาง) จำนวน 2 สาขา คือพระราม9 และเหม่งจ่ายแล้วนั้น ยังมีร้านจีระพันธ์ที่เป็นพรีเมียม คือ เป็นร้านอาหาร ตั้งอยู่ทั้งแบบสแตนด์อะโลน และฟู้ดคอร์ทอีกด้วย ซึ่งบริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก ทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรีและอยุธยา รวมทั้งการขยายโมเดลใหม่ในห้างสรรพสินค้า หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

 

โดยในปีหน้าจะเห็นการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งการพัฒนาสาขาพระราม 9 โดยเฉพาะในครัวกลาง ที่จะเติบระบบการบริหารคลังสินค้า ระบบ IT เพื่อให้เป็นเซ็นเตอร์ในการกระจายสินค้า รวมทั้งการจัดการโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายงานที่เพิ่มมากขึ้น จากการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “กะทะ” สตรีทฟู้ด ร้านจ้าวแกง ร้านข้าวแกงต้นตำรับสูตรพรีเมียม ที่จะเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า เพื่อรองรับลูกค้ามุสลิม หรือชาวต่างชาติ จากตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ไก่ย่างจีระพันธ์

นอกจากนี้ยังเน้นการทำตลาด “ไก่เนื้อทอง” ไก่ย่างเสียบไม้ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ให้กับไก่ย่างจีระพันธ์ ซึ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคระดับกลางถึงบน ขณะที่ไก่เนื้อทองจะเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง ทำให้สามารถครอบคลุมกลุ่มลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น

 

“บัญญัติ” บอกอีกว่า อีกหนึ่งโมเดลที่เพิ่งเริ่มต้นแต่ได้รับฟีดแบคที่ดีมากคือ การจับมือกับ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) ที่ร่วมกันเปิดตัว “ไก่ย่างจีระพันธ์” มินิช้อป สาขาแรกขึ้นที่สถานีบริการพีทีที สเตชั่น สาขาสุวินทวงศ์ (ขาเข้า) กม.36 เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มีแผนขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ด้วย

ไก่ย่างจีระพันธ์

“ไก่ย่างจีระพันธ์มินิช้อป สาขาปตท. สุวินทวงศ์ ถือเป็นสาขาต้นแบบที่จะใช้ศึกษาและพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่โมเดลแฟรนไชส์ ที่เน้นงบลงทุนต่ำ คืนทุนเร็ว ซึ่งในปีนี้มีแผนจะเปิดอีก 3 สาขา ทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดและมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 50 สาขาในปีหน้า”

 

“มองว่าในตลาดยังมีศักยภาพอีกมาก แต่เราต้องมองหาโอกาสให้เจอ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า วิกฤติโควิดส่งผลกระทบเช่นกัน ทั้งบริการเคเทอริ่งที่ไม่สามารถจัดได้ การออกงานอีเว้นท์ที่ต้องหยุดชะงักทั้งหมด รวมถึงการห้ามบริโภคในร้าน แต่ในวิกฤติก็มีโอกาส เพราะพบว่า ยอดขายในร้านสาขาพระราม 9 เติบโต 100% จากการขายแบบเทคโฮม การใช้พนักงานที่น้อยลง ปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ ทำให้ต้นทุนลดลง ในปีนี้จึงคาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 10-20%”

ไก่ย่างจีระพันธ์

ขณะเดียวกันหลังโควิดทำให้บริษัทต้องปิดร้านสาขาในฟู้ดคอร์ทไป 10 แห่ง จนปัจจุบันเหลือเพียง 7 แห่ง ก็จะปรับรูปแบบเป็นแฟรนไชส์ พร้อมกับเปิดเป็นช้อปในชื่อใหม่ “จ้าวแกง” โดยตั้งเป้าที่จะเปิด 4 สาขาใน 4 มุมเมือง

 

นอกจากนี้หลังจากเข้าร่วมโครงการ AGRO GENIUS DIPROM ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดขึ้น ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาน้ำจิ้มไก่แบบผง ออกมาสำเร็จ ซึ่งในอนาคตจะวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศด้วย

 

“ยังมีโอกาสอีกมากในต่างประเทศ โดยจีระพันธ์มีจับมือกับพันธมิตรในการขยายร้านสาขาไปใน CLMV โดยเริ่มต้นที่กัมพูชาในปีหน้า ก่อนที่จะขยายไปยังตะวันออกกลาง ทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมทาน เช่น ไก่ย่างจีระพันธ์แช่แข็ง แกงมัสมั่น น้ำจิ้มไก่แบบขวดและแบบผง เป็นต้น”

 

การขยับตัวครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างรายได้ทะลุหลัก 100 ล้านบาทในปีหน้า ถือเป็นรายได้สูงสุดในรอบ 80 ปี พร้อมกับการเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI ภายในปี 2570 ยังเป็นความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,741 วันที่ 19 - 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564