สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือกพท.ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ AOC (Airlines Operation Committee) และสายการบินระหว่างประเทศที่มีเที่ยวบินเข้าประเทศไทยมากกว่า 90 สายการบิน รวมทั้งผู้แทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยเน้นย้ำให้สายการบินตรวจสอบเอกสารของผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างเข้มงวด และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศไทยที่ดำเนินการอยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 CAAT ได้ออกระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2564 โดยให้สายการบินตรวจสอบเอกสารสําคัญของผู้โดยสารก่อนออกบัตรโดยสาร (Boarding Pass) ตามมาตรการป้องกันโรคสําหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด
หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนให้ระงับการออก บัตรโดยสาร (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสารนั้น โดยที่ผ่านมา CAAT ได้ติดตามการดำเนินการของสายการบินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบว่าสายการบินมีข้อผิดพลาดจากระเบียบฯ CAAT จะดำเนินการตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก เพื่อให้สายการบินเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยจะส่งหนังสือแจ้งเตือนในลำดับแรก แต่หากยังพบข้อผิดพลาดมากกว่า 2 ครั้ง CAAT จะไม่รับพิจารณาเรื่องร้องขอใด ๆ จากสายการบินเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งสายการบินรับทราบมาตรการดังกล่าวพร้อมทั้งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เพื่อยกระดับการป้องกันและซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกัน ที่ประชุมได้เน้นย้ำการปฏิบัติของสายการบินตามแนวทางที่กำหนด มีการสื่อสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผู้โดยสารตั้งแต่ต้นทาง ให้แน่ใจว่าเอกสารครบถ้วนถูกต้อง รวมถึงการจัดการผู้โดยสารที่มาต่อเครื่องไป Sandbox เพื่อการยับยั้งผู้โดยสารที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข หากมีผู้โดยสารที่เอกสารไม่ครบเล็ดลอดเข้ามา ผู้โดยสารจะถูกส่งไปยังพื้นที่รองรับที่สนามบินเพื่อเตรียมส่งกลับประเทศต้นทาง
ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดจำนวนการรับขนผู้โดยสารที่เอกสารไม่ครบเดินทางเข้ามายังประเทศไทยให้น้อยที่สุด อีกทั้งเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และลดความแออัดในสนามบิน CAAT ขอความร่วมมือให้สายการบินเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารของผู้โดยสารที่ต้องแสดงก่อนขึ้นเครื่อง เช่น ผลตรวจ RT-PCR ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง การลงทะเบียน Thailand Pass และเอกสารสำคัญอื่น ๆ ตามที่ ศบค. กำหนด อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางชีวภาพและความเชื่อมั่นในความปลอดภัยทางสาธารณสุขของประชาชนของประเทศไทย และขอให้สายการบินแจ้งเตือนผู้โดยสารเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามมาตรการทั้งก่อนเดินทางและระหว่างเดินทาง หากไม่ปฏิบัติตามจะถือเป็นความผิด และอาจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ