TPCH ไฟเขียวCOD โรงไฟฟ้าขยะ SP 9.5 MW ดันกำลังผลิตแตะ 116.3 MW

04 ม.ค. 2565 | 09:57 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2565 | 17:05 น.

บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะ “สยาม พาวเวอร์” ขนาดกำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์สำหรับจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล-ขยะ แตะ 116.3 เมกะวัตต์ เล็งลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 4-6 แห่ง

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ทางโรงไฟฟ้าสยาม พาวเวอร์ โรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย Landfill ที่ตั้งโครงการ ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

 

ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของ TPCH ได้เริ่มมีการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้านครหลวง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย Landfill โรงที่ 1 ของ TPCH ที่ได้จ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

“โรงไฟฟ้าขยะ SP ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าที่ TPCH เข้าไปลงทุนที่ร้อยละ 50 และ กลุ่มนายทวี จงควินิต อีกร้อยละ 50 และยังเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของ TPCH ได้ COD เรียบร้อยแล้ว จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำลังการผลิตรวมเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 แห่ง อยู่ที่ 106.8 เมกะวัตต์

 

ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งมีแผนกำหนด COD ในปีหน้า”

นายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า สยาม พาวเวอร์ (SP) ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำมาคัดแยกเชื้อเพลิงขยะจากหลุมฝังกลบเดิมของอบจ.นนทบุรี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ด้วยเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดแบบหมุนเวียน(CFB) มีระบบบำบัดอากาศจากการเผาไหม้ (FlueGas Treatment) และมีระบบควบคุมการบำบัดอากาศอย่างต่อเนื่อง (CEMs) ที่จะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนระบายออกสู่ปล่องระบายอากาศ

 

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด อีกประมาณ 4-6 แห่ง โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่คาดว่า จะได้รับอัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อที่สูง และคาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการ COD โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์แล้ว ยังได้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และนำเสนอสาระดีๆ ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการจัดการขยะเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยนำขยะจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเดิมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบาย รัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

“ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ จะทำให้ทราบถึงขั้นตอนต่างๆ ในการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ ไปจนถึงกระบวนการนำเชื้อเพลิงขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีการนำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และยังสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานจริงของเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ภายในอาคารได้แบบ 180 องศา อีกด้วย คาดว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้เข้าชมได้ภายในต้นเดือนเมษายน 2565” 

 

ทั้งนี้ TPCH ยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐ ซึ่ง TPCH มีความพร้อมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งชีวมวล ขยะ เนื่องจาก บริษัทฯ มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการดำเนินงานอยู่แล้ว และหากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเติม ตามแผน PDP 2022 ฉบับใหม่ บริษัทฯ มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป้าหมายการมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขยะ 50 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายการมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทุกประเภทรวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566